RTC เชียงใหม่

RTC เชียงใหม่ เปิดปม! เหตุสมาร์ทบัส มาๆ หายๆ

RTC เชียงใหม่“โควิดมาพอดี ผมก็พยายามอธิบายว่า RTC จะเจ๊งไหม เราก็บอกว่า ที่เราหยุด คือเราหยุดตามประกาศของรัฐบาลและจังหวัด” อาจารย์ ฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการผู้จัดการ RTC กล่าว

รีวิวเชียงใหม่ขอเกาะติดความเคลื่อนไหวของ RTC เชียงใหม่ กับคำถามที่หลายคนอยากรู้ ว่ากลับมาครั้งนี้ มีอะไรแตกต่างจากเดิม? มารอบนี้อยู่นานไหม? เมืองจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด? วันนี้เรามีพูดคุย กับอาจารย์ฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการผู้จัดการ RTC

RTC เชียงใหม่

ขออาจารย์แนะนำตัวเองหน่อยครับ รวมถึงผลงานที่ผ่านมา ?

ผมชื่อ ฐาปนา บุณยประวิตร ตอนนี้มีหลายตำแหน่งด้วยกัน

  • ตำแหน่งที่ RTC ก็จะเป็น กรรมการผู้จัดการ 
  • นายกสมาคมการผังเมืองไทย 
  • เลขานุการ กฎบัตรไทย 
RTC เชียงใหม่

ช่วยอธิบาย RTC Bus คืออะไร มีแนวคิดในการทำรถบัสยังไง ?

เป้าหมายและการตั้ง RTC ขึ้นมา เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการเดินทางของพี่น้องประชาชน ในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถที่จะรองรับรูปแบบการเดินทางของประชาชน คนมาทำงานธุรกิจ และผู้เยี่ยมเยือน 

ส่วนคนเข้ามาเชียงใหม่มากที่สุด เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากเครื่องบิน แล้วก็ต่างคนต่างเดินทางกันไปคนละทิศคนละทาง ซึ่ง RTC ก็เหมือนกับท่อ เราขนคนมาตามเส้นทาง ก็เหมือนกับลำเลียงไปตามเส้นทาง

บริษัท RTC เป็นของเอกชน หรือ ของรัฐบาล หรือบริษัทร่วมทุน หรือยังไง ?

ตอนนี้เอกชน 100% เลยครับ 


จริงๆ แล้วปัญหาเรื่องรถเมล์ของเมืองเชียงใหม่ คืออะไร ขออาจารย์ช่วยอธิบาย ? 

การเดินทางของขนส่งมวลชนในตอนนี้ มีลักษณะการเดินทางที่แผ่กระจายออกไป มันไม่มีเส้นทางที่ชัดเจน และเราพยายามจัดเส้นทาง ให้มันเป็นไปตามเส้นทาง ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม มีจำนวนผู้เดินทางโดยรถขนส่งมวลชนได้ถึง ร้อยละ 30 ปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลจะลดลง แต่ว่ากระบวนการที่จะให้รถลดลง อาจจะไม่ใช่การลงทุนในระบบขนส่งมวลชนเพียงอย่างเดียว รัฐเองจำเป็นต้องมีมาตรการเข้าเสริม

เมื่อซัก 3-4 ปีที่แล้ว เคยเห็นรถวิ่งมาแล้วครั้งหนึ่ง แล้วก็หายไป ตอนนี้กลับมาใหม่แล้ว ที่หายไป หายไปไหน เพราะอะไร ?

ตอนนั้นโควิดมาพอดี ผมก็พยายามอธิบายว่า RTC จะเจ๊งไหม เราก็บอกว่า ที่เราหยุดน่ะ คือเราหยุดตามประกาศของรัฐบาลและจังหวัด แล้วโควิดก็อยู่ประมาณ 2 ปีกว่า ทีนี้หลังจากโควิดผ่านไป 2 ปี เราก็มาทำการสำรวจดูความต้องการของพี่น้องประชาชน เราศึกษามีการทำแบบสอบถามมาประมาณปีครึ่ง หาข้อมูลจนกระทั่งเราสรุปได้ว่า รัฐบาลไม่ปิดเมืองอย่างแน่นอน 

การกลับมาคราวนี้ แตกต่างจากครั้งที่แล้วยังไงบ้างครับ ?

มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ครั้งนี้ RTC มีภาระกิจสำคัญอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือ 

  • เรื่องที่ 1 พยายามที่จะหาวิธีที่จะดึงคน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางของประชาชน และนักท่องเที่ยว จากรถยนต์ส่วนบุคคล มาเป็นระบบขนส่งมวลชนให้ได้ 
  • เรื่องที่ 2 เราต้องการพัฒนาเชิงพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เราจะลำดับความสำคัญของป้าย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
    – สถานีหลัก เราเรียกว่าเป็น Main Station รถเราจะจอดได้ไม่น้อยกว่า 5 นาที
    – สถานีรอง เราเรียกว่าเป็น Sub Station จะจอดประมาณ 3 นาที
    – จุดจอดธรรมดา เป็น Bus stop พวกนี้จะเป็น Drop Off คือไปแวะแล้วก็รับ แล้วก็ส่ง
  • เรื่องที่ 3 ภายใน 3 ปีนี้ RTC จะปรับรถบัสทั้งหมด เป็นรถที่ใช้ ไฮโดนเจน ซึ่งจะเป็นรถที่ไม่มีปัญหามลภาวะ เราจะสามารถสร้างเมืองเชียงใหม่ มีความเป็นกลางทางคาร์บอนได้

มีสาเหตุอะไรอีกบ้างที่จะทำให้ RTC ต้องหยุดวิ่งอีกครั้ง ?

คิดว่าตัวภัยพิบัติ โควิด น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วก็จะมีประกาศให้หยุด การประกาศหยุดนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นรัฐบาล อีกเรื่องหนึ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะเกิด แต่มันก็เป็นความเสี่ยงนั่นก็คือ ปริมาณผู้โดยสาร อาจจะไม่มากพอที่จะดำเนินการต่อ พูดง่ายๆ ว่ามีอยู่ในภาวะขาดทุน 

RTC เชียงใหม่

กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นคนท้องถิ่นหรือนักท่องเที่ยว เพราะเห็นว่าเริ่มวิ่งและวนกลับมาที่สนามบิน ?

เส้นทางที่เราวิ่งอยู่ เป็นเส้นทางสัมปทานที่ถูกกำหนดมา RTC ต้องเอาจุดที่มีลักษณะการเดินทางที่จับต้องได้ ก็คือปริมาณนักท่องเที่ยวที่มาจากสนามบิน ทุกท่านอาจจะคิดว่าเป็นนักท่องเที่ยวหมด ถ้าเป็นเทศกาล 70% เป็นนักท่องเที่ยว และ 30% เป็นชาวเชียงใหม่ แต่ในช่วงปกติของสนามบิน 55% เป็นชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวประมาณ 40% – 30% โดยประมาณ เพราะงั้นจะมาบอกว่า “บริการอยู่เฉพาะนักท่องเที่ยวหรือเปล่า” คำตอบคือ “ไม่ใช่นะครับ”

ถ้าตอบโจทย์นักท่องเที่ยว แล้วคนท้องถิ่นล่ะครับ จะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ?

เราไปคุยกับกลุ่มล่ามช้าง เราไปคุยกับกลุ่มชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ เขามีมติมานานแล้วว่า เขาไม่อยากให้รถยนต์ส่วนบุคคลเข้า ซอยแคบอยู่แล้ว เขาต้องการให้คนเดิน เพราะในเขตเมืองเขาไม่ต้องการมลภาวะ ไม่ต้องการรถยนต์ แต่เขาต้องการคน ต้องการนักท่องเที่ยว


RTC เชียงใหม่
RTC เชียงใหม่

ขณะนี้เปิดวิ่งแล้วกี่เส้นทาง และมีแผนจะขยายอีกกี่เส้นทางในอนาคต คลอบคลุมพื้นที่ส่วนใดบ้าง กี่อำเภอ ?

ตอนนี้ที่เราได้รับสัมปทานมามี 2 เส้นทาง คือสาย 22 และสาย 24 

  • สาย 22 เปิดปลายเดือนกุมภาพันธ์ 
  • สาย 24 A ท่าอากาศยานเชียงใหม่ – ประตูท่าแพ – ตลาดวโรรส – ท่าอากาศยานเชียงใหม่
  • สาย 24 B ท่าอากาศยานเชียงใหม่ – นิมมาน – ช้างเผือก – ท่าอากาศยานเชียงใหม่
  • สายสีเขียว เราคิดว่ากลางปีเราน่าจะให้บริการได้ คือจากสนามบิน – ประตูท่าแพ – กาดดอกไม้ – สถานีรถไฟ – ขนส่งอาเขต และก็เส้นนี้อาจจะมีแนวโน้มต่อ เซ็นทรัล เชียงใหม่ และก็ไปด้านหลัง ม.พายัพ 
  • อีกเส้นที่เราจะขอ เป็นการเรียกร้องของภาคการท่องเที่ยว เขาอยากให้มีรถบัสที่วิ่งอยู่ในกำแพงเมืองอย่างเดียว ซึ่งในเขตกำแพงเมืองตรงนี้ มีความหนาแน่นของการท่องเที่ยวมาก เส้นนี้ก็จะขออนุญาตขนส่งเช่นกัน และก็ถ้าอนุมัติเมื่อไหร่ เราก็พร้อมวิ่งทันที 

สามารถนำจักรยานหรือจักรยานพับขึ้นรถ RTC ได้หรือไม่ ?

จักรยานพับได้ ขึ้นได้ แต่จักรยานพับไม่ได้จะขึ้นยาก เพราะว่าวงเลี้ยวมันแคบ เวลาไปวนข้างในมันจะลำบาก RTC กว้าง 4.4 เมตร เพราะงั้นแล้วพื้นที่มันเหลือน้อย

ราคาค่าโดยสารคิดอย่างไร และสามารถจ่ายด้วยวิธีการไหนได้บ้าง ?

ราคาทั้งสาย 30 บาท นักเรียน 20 บาท ผู้พิการ และนักบวช ไม่คิดค่าบริการ สามารถชำระเงินสดได้ที่พนักงานขับรถ หรือสแกน ไทย QR Payment, บัตร Rabbit, บัตรเครดิตของไทย และปลายกุมภาพันธ์นี้ สามารถรับบัตรเครดิตทั่วโลก และ Alipay 

มีแอปฯ ของ RTC ไว้ดูว่ารถเมล์ถึงไหนแล้ว แล้วบอกเวลาอีกกี่นาทีจะมาถึง เหมือนของต่างประเทศไหมครับ ?

เรื่องระบบติดตามรถ ตอนนี้สามารถดูได้ในแอปฯ ViaBus ได้เลย ทุกคนสามารถที่จะดูรถว่าอยู่ตรงไหน กี่นาทีจะมาถึง และประมาณ มีนาคม บนรถจะมีการติดตั้งระบบเหมือนรถไฟฟ้า คือ Next Station สถานีหน้า เป็นสถานีอะไร ก็จะมีเสียงออกมาด้วย 

ฝากเชิญชวนนักท่องเที่ยว และคนเชียงใหม่ให้มาใช้รถ RTC หน่อยครับ 

RTC เรียนเชิญทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นชาวเชียงใหม่ หรือว่าทางนักท่องเที่ยว เข้ามาร่วมใช้บริการ RTC ในเรื่องของการขนส่งคมนาคม ทาง RTC มีความตั้งใจ ที่จะต้องการเชื่อมต่อการคมนาคมในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินทางจากในเมืองไปถึงนอกเมือง รวมถึงเรื่องของ Logistics อีกด้วย


ดูคลิปที่นี่


อ่านรีวิวอื่นๆ ที่นี่

Relate Posts :