เปิดใจรถแดง ไม่รักไม่ว่า อย่าเกลียดกันก็พอ

เกิดอะไรขึ้นกับความรู้สึกของคนเมืองเชียงใหม่ที่มีต่อยานพาหนะคู่บ้านคู่เมืองอย่างรถสี่ล้อแดง จากที่เคยเป็นขวัญใจสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ อำนวยความสะดวกพาไปส่งโน่นส่งนี่แสนสบาย แต่ในวันนี้สายตาของคนบ้านเราที่มองรถสี่ล้อแดงกลับเปลี่ยนไป

หากจะพูดถึงสาเหตุของการเสื่อมถอยความนิยมในตัวรถสี่ล้อแดงน่าจะเป็นเพราะช่วงหนึ่งที่ราคาค่าโดยสารผกผัน แต่ละคันคิดไม่เท่ากัน ทำให้ผู้โดยสารรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ บางคันก็จอดทิ้งผู้โดยสารไว้กลางทาง และบางครั้งก็ยากที่จะเรียกให้จอดรับ ในขณะที่ผู้ขับขี่หลายคนตำหนิถึงมารยาทบนท้องถนนของรถแดง ที่นึกจะจอดก็จอด นึกจะเลี้ยวก็เลี้ยว จนเกือบทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง

เมื่อเชียงใหม่มีโครงการที่จะจับรถแดงแปลงร่างเป็นรถเมล์ ก็มีกระแสหนึ่งอยากให้รถแดงหมดไปจากเมืองเชียงใหม่ จะได้เข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนที่มีมาตรฐานเต็มตัวเสียที แต่ในขณะเดียวกันฝั่งรถแดงที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมานานก็มองว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงแค่บางคันเท่านั้น และอยากให้คนเชียงใหม่หันมามองรถแดงในแง่มุมอื่นกันบ้าง

คุณใหญ่ สาวแกร่งที่ขับรถแดงมานานกว่า 20 ปี
“เชียงใหม่ไม่มีรถแดง เป็นไปไม่ได้ รถแดงคู่เชียงใหม่มาเป็นร้อยปี เป็นของคู่บ้านคู่เมือง” คุณใหญ่-นพวา จันทร์แดง ที่ขับรถสี่ล้อแดงประจำอยู่คิวรถช้างเผือกบอกกับเรา

เส้นทางวิ่งรถของคิวรถสี่ล้อแดงช้างเผือกได้แก่อาเขต กาดหลวง สถานีรถไฟ คิดค่าโดยสารคนละ 20 บาท จำนวนรถโดยสารมีทั้งหมด 21 คัน และถ้ามีผู้โดยสาร 5 – 10 คน ก็ออกรถ

“ถ้าจะขึ้นไปไหนก็ตกลงกันก่อน ถ้าเลยอาเขตไปขอสัก 50 บาทได้ไหม ได้ก็ไป ไม่ได้ก็ต้องเคารพคำตอบ เราต้องคุยกับลูกค้าให้เรียบร้อย คือนี่เฉพาะรถในคิวนี้นะ รถที่อื่นเราไม่รู้ว่าเขาคิดกันยังไง แต่ในคิวนี้เราจะตกลงกันก่อน ไม่ว่าจะคนไทยหรือต่างชาติ”

รถแดงที่คิวรถช้างเผือกจะมีการตกลงกันเรื่องมารยาทการรับผู้โดยสารก่อนออกรถ
แม้ว่าตอนนี้จะมีรถเมล์ประจำทางในเมืองให้ใช้บริการ แต่คุณใหญ่ก็มองว่ารถแดงยังคงเป็นที่ต้องการของผู้โดยสารอยู่ดี

“รถเมล์วิ่งเข้าซอยไม่ได้ เวลาคนเฒ่าคนแก่แบกข้าวสารกลับมาจากต่างเมืองต่างอำเภอ หิ้วของหนักไม่ไหว รถเมล์ไปส่งเขาถึงที่ได้ไหม แต่รถแดงเราไปส่งให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะเข้าไปได้ หรือกับนักท่องเที่ยว โรงแรมสมัยนี้มีในซอกในซอย นั่งรถลงปากซอยแล้วเดินกลับตอนมืดๆ ค่ำๆ เขาพกของมีค่ามาเที่ยวเขาก็กลัวเหมือนกัน รถแดงไปส่งเขาถึงหน้าโรงแรมปลอดภัยกว่า หรือบางทีมากันเป็นครอบครัวหรือเป็นกลุ่ม 8 – 9 คน จะเข้าไปในเมือง ขอราคาเหมา ถ้าเราพอเลี้ยงลูกเลี้ยงสามีเลี้ยงที่บ้านได้เราก็ไป แต่ถ้าเป็นรถเมล์คนละ 20 บาทก็คือ 20 บาท ไม่มีลด ต่อรองไม่ได้ด้วย”


สำหรับเรื่องที่คนส่วนใหญ่บ่นถึงรถสี่ล้อแดงนั้น คุณใหญ่มองว่า อาจเป็นเพราะคนที่ทำให้เกิดปัญหาไม่ได้ขับรถแดงเป็นอาชีพหลักจริง ๆ เพราะมีบางกลุ่มที่ทำเป็นอาชีพเสริมจากการทำงานประจำ ซึ่งคนที่ขับรถแดงด้วยใจรักจริง ๆ จะไม่ทำอะไรแบบนั้นแน่นอน

“บางคนมาขับรถแดงเพื่อหารายได้พิเศษเพิ่ม บางคนทำเป็นอาชีพ อย่างเรา เราทำตรงนี้มา 20 ปี เราก็รักรถของเรา คนขับแดงจริงๆ เขาก็หาเช้ากินค่ำ ส่วนมากคนที่ทำอาชีพนี้คือเลี้ยงครอบครัวหมด บางคนเลี้ยงลูกเต้าส่งเรียนจนจบมหาวิทยาลัยเลยก็มี บางคนขับรถแดงจนถึงอายุ 75 – 80 ปีก็มี คนที่รักอาชีพเขา เขาจะไม่ทำลายอาชีพตัวเอง”

ตั้ม อดีตพนักงานบริษัทที่หันมาขับรถแดงหาเลี้ยงชีพ

ในขณะที่คิวรถแดงฝั่งอาเขต ตั้ม – เจนณรงค์ สังราช ที่ขับรถสี่ล้อแดงประจำคิวที่นี่ได้ 4 – 5 ปี บอกว่ารถสี่ล้อแดงมีทั้งรถที่ขึ้นทะเบียนกับกับสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ กับรถข้างนอกทั่วไป

“รถแดงที่นี่มีคิวถูกต้องตามกฎหมาย ขึ้นตรงกับขนส่ง รถแดงที่ไม่มีคิวคือรถข้างนอกทั่วไป ซึ่งรถเหล่านี้แหละที่ทำให้ค่าโดยสารผกผัน”

ตั้มเล่าให้ฟังว่าวิธีการวิ่งรถสี่ล้อแดงของคิวรถอาเขตที่มีทั้งหมด 70 คัน 114 คิว แบ่งเป็น 2 แบบ คือรถรวม คือต้องรอคนนั่งรวมกันแล้วเข้าเมืองทีเดียว มีเส้นทางวิ่งชัดเจน ได้แก่ กาดหลวง ประตูท่าแพ ประตูเชียงใหม่ สวนดอก คิวรถช้างเผือก คิดค่าบริการคนละ 20 บาท ส่วนรถแดงอีกแบบคือรถเหมา เหมาออกไปนอกเส้นทางในเมือง ซึ่งจะมีการขึ้นป้ายราคาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งค่าบริการมีตั้งแต่ 100-300 บาท รวมทั้งเหมาไปต่างจังหวัดด้วย

จะไปที่ไหน มีมาตรฐานราคาบอกไว้เสร็จสรรพ
“ข้อดีอีกอย่างของการใช้บริการรถแดงจากสหกรณ์เดินรถประจำทางคือเวลาลืมของไว้บนรถ เราสามารถช่วยตามหาได้ อย่างก่อนหน้านี้ที่มีข่าวนักท่องเที่ยวลืมเงินไว้แสนกว่าบาท เขาติดต่อกลับมาก็ได้คืน เราถามว่าขึ้นรถที่ไหน เวลากี่โมง ก็เช็คกับคนขับว่าช่วงนั้นใครออกรถ ให้เขาไปดูที่หลังรถก็เจอ”

พอถามเรื่องที่บางเสียงของสังคมอยากให้ยุบรถแดงแล้วมีระบบขนส่งมวลชนแบบอื่นแทน ตั้มบอกว่าอาจจะดีในการสร้างมาตรฐาน แต่ต้องคำนึงถึงเส้นทางในเมืองเชียงใหม่ด้วย


“ก่อนอื่นต้องดูด้วยว่าจะมีตัวช่วยอย่างไรให้กับคนที่เขาผ่อนรถอยู่ เงินที่ลงทุนมาจะมีสวัสดิการส่วนไหนช่วย” ตั้มพูดอย่างเคร่งขรึม “แต่ถ้ายุบรถแดง ทำเป็นรถเมล์ รถประจำทาง ราคามาตรฐาน แบบนั้นได้ก็ดี จะได้ไม่ต้องมีคนมาบ่นว่าวิ่งมั่ววิ่งวน แต่อย่าลืมว่าเส้นทางในเชียงใหม่ซับซ้อน ถ้าลงตรงนี้จะไปอีกที่ แล้วต้องนั่งรถ 2-3 ต่อก็ลำบาก”

ถ้ามากันเป็นกลุ่ม นั่งรถเหมาจะคุ้มและประหยัดกว่า

ตั้มบอกว่าบางครั้งเห็นคนบ่นว่ารถแดงก็อดน้อยใจไม่ได้ แต่ก็อยากให้เข้าใจว่าคนขับรถแดงไม่ใช่ว่าไม่ดีไปเสียทุกคน

“คนบ่นกันหลายอย่างก็เห็นในเฟสบุ๊ก อยากให้เข้าใจว่ารถแดงในเชียงใหม่มีเยอะเป็น 2,000 กว่าคัน แล้วแต่ละคันก็ไม่ได้เหมือนกันไปหมด คนที่ดีก็มี อย่าเหมารวม บางคนที่ขับบริการประทับใจ ลูกค้าเหมาไปเที่ยวจนเป็นขาประจำก็มีเหมือนกัน อยากให้ลองเปิดใจมองกว้างๆ ดูครับ”

บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่รถแดงไปรอผู้โดยสาร
 สำหรับรถสี่ล้อแดงที่ไม่ได้มีคิวรถประจำตามสถานีขนส่ง แต่ประจำอยู่หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านห้วยแก้วก็ได้ให้ความเห็นว่า

“เวลาคนมาบ่นว่าทำไมแพง มาคิดราคาแบบนี้ได้ยังไง เราก็ไม่รู้จะพูดยังไง ก็เราไม่ได้ไปโกงเขา มันแล้วแต่คนจะเจอ คนเราร้อยพ่อพันแม่”

คนขับรถประจำหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งนี้บอกว่าค่าโดยสารของที่นี่ ไปกาดหลวงหรือเข้าเมืองก็ 20 บาท จะไปที่อื่นก็ตกลงราคากันก่อน แต่ถ้าเทียบรถแดงกับรถเมล์ ข้อดีของรถแดงก็ยังมีมากกว่าอยู่ดี

“รถเมล์วิ่งเป็นเวลา แต่รถแดงมีตลอดเวลา รถเมล์รับคนตามรายทาง บางคนที่รีบอาจจะไปไม่ทัน แต่ถ้าเหมารถแดงเราก็พุ่งไปเลย”

จะรักจะไม่ชอบอย่างไร รถแดงก็อยู่คู่เชียงใหม่นะ

จะว่าไปแล้วรถสี่ล้อแดงก็ถือเป็นความทรงจำอย่างหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ มุมดีๆ ของรถสี่ล้อแดงก็มี อย่างเช่นเวลาที่เราเร่งรีบ เวลาฉุกเฉิน แม้กระทั่งเวลาเมาแล้วไม่รู้จะกลับบ้านอย่างไร รถแดงคือตัวช่วยให้เราผ่านพ้นไปได้ แม้ว่าบางคนอาจจะเจอประสบการณ์แย่ๆ แต่เราก็เชื่อว่าคนขับรถแดงที่ดีๆ ก็มีเหมือนกัน

Relate Posts :