หอศิลป์สุทฺธจิตฺโตในวัดหมื่นสาร หอประวัติศาสตร์เล่าเรื่องราวของเชียงใหม่

หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต

ที่ตั้ง: ในวัดหมื่นสาร ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ในเมืองเชียงใหม่ มีวัดต่างๆมากมายที่มีชื่อเสียงทั้งด้านประวัติศาสตร์ ความงดงาม และอายุ แต่น้อยนักที่เป็นของสร้างใหม่ งดงาม และมีคุณค่าแก่การไปเยี่ยมชม แต่แล้วก็ยังมีอยู่วัดหนึ่ง ซึ่งดึงเอาฝีมือศิลปะคนในท้องถิ่นมาสร้างเป็นวัดหลังงาม ทั้งโครงสร้างและรายละเอียด สร้างขึ้นมาเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ เพื่อบอกให้ลูกหลานได้รู้ประวัติความเป็นมา รวมทั้งเรื่องราวในวรรณกรรมด้วย เราสามารถเยี่ยมชมสิ่งเหล่านี้ได้ที่ วัดหมื่นสาร

วัดหมื่นสาร ถนนวัวลาย

วัดหมื่นสาร ถนนวัวลาย

ที่วัดหมื่นสารนั้น ได้ทำการก่อสร้างอารามหลังใหม่ ซึ่งเรียกว่า หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต ซึ่งตั้งอยู่ทางซ้ายของมือจากปากทางเข้าวัด ก่อนที่เราจะเข้าไปชมความงดงามของหอศิลป์นั้น เราจะเจอรูปอนุสาวรีย์ของครูบาศรีวิชัย ซึ่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ มีลักษณะงดงามจากฝีมือของช่างศิลปะของที่นี่

วัดหมื่นสาร ถนนวัวลาย

วัดหมื่นสาร ถนนวัวลาย

หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต  เดิมเรียกกันว่า  หอเงิน และศาลาโลหะ ๓  ครูบา  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “หอศิลป์สุทฺธจิตฺโต”  หอศิลป์ที่ประดิษฐานหุ่นขึ้ผึ้งรูปเหมือน ๓ ครูบา ได้แก่  ครูบาศรีวิชัย  นักบุญแห่งล้านนา,  ครูบาอินตา  อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ)  และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น  ปุญญาคโม)  อดีตเจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร หอ ศิลป์สุทฺธจิตฺโต    เป็นหอศิลป์ที่สร้างขึ้นจากดำริของ  พระครูสุทธิจิตตาภิรัต  เจ้าอาวาสวัดหมื่นสารในปัจจุบัน  ร่วมกับคณะกรรมการวัด  และคณะศรัทธาวัดหมื่นสาร

เครื่องเงิน วัดหมื่นสาร ถนนวัวลาย

ด้านการออกแบบก่อสร้างที่สร้างแบบล้านนาประยุกต์  มีออกแบบโครงสร้างโดย  นายอำนวย  นันตากาศ  ส่วนการออกแบบลวดลายประดับหอศิลป์มี  นายจิรศักดิ์  กาวิละ  ช่างเงินบ้านวัวลาย โดยได้นำลวดลายที่เป็นลายพื้นเมืองล้านนาดั้งเดิม  ซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์เครื่องเงินบ้านวัวลาย  ดุนลายโลหะประดับตกแต่งภายในและภายนอกหอศิลป์  โดยมีช่างฝีมือชาวบ้านวัวลายทั้งชาย-หญิง  หลายคนช่วยกันต้องลาย

เครื่องเงิน วัดหมื่นสาร เชียงใหม่

วัดหมื่นสาร ถนนวัวลาย
ด้านข้างหอศิลป์ บริเวณพื้นที่ด้านนอกติดกับกุฏิสงฆ์มีการดุนลายประดับด้วยภาพพระธาตุประจำปีเกิด  จำนวน 12 ภาพ


ขึ้นมาเราจะเจอกับรวดลายภายนอกอาคาร ซึ่งสลักได้ปราณีตและละเอียดสุดๆ เป็นเรื่องราวของวรรณกรรมชื่อดังเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นภาพแกะสลักในเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยม

ขออธิบายเป็นฉากๆนะคะ บริเวณผนังซ้ายเป็นรูปพระพิฆเณศ  ซึ่งเป็นเทพแห่งศิลปะและความสำเร็จ อยู่ติดกับรูปรามเกียรติ์ ตอนทศกัณฑ์ยกทัพ ส่วนผนังด้านขวาติดกับรูปพระศิวะ เป็นเทพที่จะคอยขับไล่สิ่งชั่วร้าย และทำให้เกิดความดีงามเป็นศิริมงคล ข้างรูปพระศิวะ เป็นรูปรามเกียรติ์ ตอนพระรามยกทัพ

รูปเทวดา ยืนตรงกลางระหว่างหน้าต่าง
ตรงเหนือหน้าต่างทางเข้าจะมีรูปเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ภาพนี้ ตอน พระลักษณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ ในภาพจะแสดงถึงความโศกเศร้าของเหล่าบริวาร
ตอน หนุมานถวายตัว
ตอน หนุมมานอาสาอมพลับพลาพระราม
หนุมานกำลังรบกับยักษ์

นางฟ้า ซึ่งมีขนาดเล็ก แต่รายละเอียดไม่ได้เล็กเลย
ลวดลายบนเสาจะมีสัตว์ต่างๆ ซึ่งแกะสลักได้อย่างปราณีตและงดงาม

เข้ามาเราจะเจอกับประตูบานใหญ่ ซึ่งมีประตู 2 ฝั่งซ้ายขวา แต่ละบานจะมีตัวละครหลักในรามเกียรต์ เริ่มจากทางซ้ายมือ บานแรก ลายบนประตูเป็นลายหนุมาน  ซึ่งเป็นตัวละครเอกในเรื่องรามเกียรติ์ และอีกบานนึงเป็นรูป มัจฉานุ ลูกของหนุมานนั้นเอง

ดูใกล้ๆแสดงถึงรายละเอียดและความปราณีต
อีกฝั่งหนึ่ง บานขวาดุนลายรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ
บานซ้ายดุนลายรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

เข้ามาภายใน เราจะเจอกับหุ่นขี้ผึ้งของ ครูบาศรีวิชัย  นักบุญแห่งล้านนา,  ครูบาอินตา  อินทปัญโญ (ครูบาอินต๊ะ)  และพระครูโอภาสคณาภิบาล (ครูบาบุญปั่น  ปุญญาคโม) และเรื่องราวที่เล่าเรื่องการสร้างดอยสุเทพ

ตรงนี้จะมีรูปปั้นพระพุทธรูป แล้วด้านซ้ายมีจะมีรูปของครูบาศรีวิชัย ซึ่งรูปนี้ได้เล่าเหตุการณ์ตอนครูบามรณะภาพนั้นเอง


ครูบาศรีวิชัย มรณภาพ  เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์  พงศ. ๒๔๘๑  ณ  วัดบ้านปาง  อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน  รวมอายุได้ ๖๑ ปี  ศพของท่านตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านปางได้ ๒ ปี  หลังจากนั้นจึงเคลื่อนศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดจามเทวี  อำเภอเมือง  จังหวัดลำพูน  เป็นเวลานานถึง ๗ ปี (เหตุเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒)  และได้ทำพิธีพระราชทานเพลิงศพ  ในวันที่ ๒๒  มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙   อัฐิของท่านได้แบ่งไปตามที่ต่างๆ  ส่วนหนึ่งได้นำมาเพื่อบรรจุโกฎิเก็บไว้ที่วัดสวนดอก  แต่เนื่องจากในขณะนั้นวัดสวนดอกร้างเจ้าอาวาส  ครูบาขาวปี๋ซึ่งเป็นศิษย์เอกของครูบาศรีวิชัย  ซึ่งมีความคุ้นเคย  สนิทสนามกับครูบาอินต๊ะ  เจ้าอาวาสวัดหมื่นสาร  และนายอินทร์  ดำรงฤทธิ์  คหบดีชาวบ้านวัวลายเป็นอย่างดี  อีกทั้งครูบาขาวปี๋เคยมานั่งหนักช่วยบูรณปฏิสังขรณ์วิหารหลังเก่าวัดหมื่นสารด้วย  ท่านได้นำอัฐิครูบาศรีวิชัยส่วนดังกล่าว  ฝากเก็บไว้ที่วัดหมื่นสาร  ต่อมาครูบาอินต๊ะ  พร้อมด้วยคณะศรัทธาวัดหมื่นสารได้นำอัฐิของท่านบรรจุโกฎิไว้ที่วัดหมื่นสาร

ทุกรูป มีรายละเอียด และกิจกรรมต่างๆของผู้คน ที่สื่อออกมาได้เป็นอย่างดี

รูปในภาพจะเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวข้องกับครูบาศรีวิชัย ดอยสุเทพ และวัดหมื่นสาร ซึ่งทุกๆรูปจะมีคำว่าอธิบายใต้รูป เพื่อให้ท่านผู้ชมที่มาแวะเวียนเข้าใจได้ และเอาไว้ศึกษาประวัติศาสตร์ได้ด้วย

และยังมีอีกหลายๆรูป ที่ยังรอให้คุณไปเยี่ยมชม  ซึ่งจะมีสักกี่ที่ในเมืองเชียงใหม่ ที่จะลงทุนก่อสร้างเพื่อที่จะเล่าเรื่องประวัติศาสตร์โดยสื่อออกมาเป็นศิลปะแกะสลักทั้งนูนสูงนูนต่ำ ทำให้มีอรรถรสในการศึกษาและให้ความรู้ได้อย่างสวยงาม แถมยังเป็นฝีมือของคนในท้องถิ่นแห่งนี้อีกด้วย

คุณรู้หรือไม่?!

1. วัดหมื่นสาร ถือเป็นวัดประวัติศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่  สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์เม็งราย  เป็นวัดที่เก่าแก่ และเป็นแหล่งเรียนรู้อักขระที่สำคัญ  เป็นสถานที่แปลพระราชสาสน์  และเคยเป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่

2. งบประมาณในการสร้างหอศิลป์แห่งนี้ ใช้เงินไปทั้งหมดประมาณ 10 ล้านกว่าบาท (จำนวนเงินรวมกับจิตศรัทธาของพ่อแม่พี่น้องด้วย)

3. ต้นเค้าของเรื่องรามเกียรติ์น่าจะมาจากเรื่องรามยณะ ของอินเดีย ซึ่งเป็นนิทานที่แพร่หลายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้ ต่อมาอารยธรรมอินเดียได้แพร่หลายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้าชาวอินเดียได้นำอารยธรรมและศาสนาเข้ามาเผยแพร่ด้วย ทำให้เรื่องรามยณะแพร่หลายไปทั่วภูมิภาค กลายเป็นนิทานที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของประเทศนั้นจนกลายเป็นวรรณคดีประจำชาติไป


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

Relate Posts :