กระชับพื้นที่สีเขียว เดินเที่ยว Farmer’s Market

อะไรๆก็เป็นสีเขียว…

เชื่อมั้ยว่าปัจจุบันสีเขียวมีแนวโน้มดึงดูดและเกี่ยวข้องกับการเลือกวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่มากขึ้น เรียกได้ว่าเอะอะอะไรก็ต้องสีเขียว หากจะกินทั้งทีก็ต้องเลือกอาหารที่เป็นสีเขียว มีเวลาว่างก็ต้องไปหาเส้นทางสีเขียวสวยๆสักเส้นออกปั่นจักรยานตามวิถีฮิปสเตอร์

ในเรื่องอาหารการกินเราจึงได้ยินศัพท์ Organic กันค่อนข้างถี่ เดี๋ยวร้านนั้นก็มีสลัดผักออร์แกนิค เดี๋ยวร้านนี้ก็มีไข่ไก่จากฟาร์มออร์แกนิค ซึ่งบางคนก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร รู้แต่ว่ามันฟังดูดี แท้จริงแล้วอาหาร Organic เหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตแบบสีเขียวของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งเชียงใหม่เราเองที่ว่าเป็นเมืองแห่งธรรมชาติมีหรือที่จะพลาดเกาะติดกระแสนี้  ร้านอาหารทั้งน้อยใหญ่จึงเปิดขายอาหาร Organic กันเป็นกูรุส พร้อมกับแหล่งมั่วสุม เอ้ย แหล่งพบปะแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อรวมพลคนรัก Organic อย่าง ‘ตลาดนัดชาวสวน’

วันนี้เราจึงจะพาไปเดินชม Farmer’s Market หรือ ตลาดนัดชาวสวน แห่งใหม่ที่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน ตลาดที่ว่าแห่งนี้มีพิกัดอยู่ที่ ห้องสมุดฟื้นบ้าน ย่าน เวียงเชียงใหม่ หรือ หลังหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่สามกษัตริย์นั่นเอง

*Organic : ผลผลิตทางเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมี ในการเพาะปลูก ไม่ตัดแต่งพันธุกรรม ทำให้ผลผลิตที่ได้เป็นธรรมชาติ 100 % และไม่มีสารตกค้าง ดังนั้นอาหาร Organic ก็คืออาหารที่มีวัตถุดิบจากธรรมชาติ 100 % ปราศจากยาฆ่าแมลงและสารเคมี ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องสารตกค้างในร่างกาย ตอบโจทย์วิถีคนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพแบบเก๋ๆ

*Farmer’s Market : คือ ตลาดที่เกษตรกรและผู้ผลิตนำผลผลิตที่ตนเองปลูกหรือทำมาวางขายด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือ ซูเปอร์มาร์เก็ต

*กูรุส : แปลให้เข้าใจง่าย คือ คำที่ใช้แทนปริมาณมากๆ เผื่อใครไม่เข้าใจ ฮ่า

โดย Farmer’s Market หรือ ตลาดนัดชาวสวน นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนชาวสวนเกษตรอินทรีย์ (Organic) พ่อค้า แม่ขาย ให้นำผลผลิตของตัวเองมาวางขายถึงมือผู้บริโภคโดยตรง นอกจากนั้นยังสนับสนุนนักดนตรีเชียงใหม่ด้วย โดยจะมีดนตรีสดเล่นทุกอาทิตย์เป็นสีสัน เสมือนว่าการเกษตร ธรรมชาติและดนตรีกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้ รวมถึงเป็นแหล่งพบปะของผู้ที่สนใจในเรื่อง Organic ให้มารวมตัวกัน โดยจะมีตลาดนัดทุกวันศุกร์ตั้งแต่เที่ยงถึง 6 โมง และจะมีดนตรีสดเล่นในช่วงเวลา บ่ายสามถึง 6 โมง คลอไปกับการเดินตลาดด้วย

บริเวณทางเข้าตลาดนัดชาวสวน
ข้างบริเวณตลาดมีอาคารสามารถนำอาหารมานั่งทานได้
เวที และเสื่อที่ปูไว้ให้นั่งพักผ่อน
ในบริเวณตลาดร่มรื่นด้วยเงาต้นไม้ มีโต๊ะ เก้าอี้ ไว้ให้นั่งพักและทานอาหาร

ภายในตลาดจะเป็นลานว่าง ร่มรื่น และมีต้นไม้ล้อมรอบ ตรงกลางจะเป็นบู๊ตของพ่อค้าแม่ขาย ที่จะนำสินค้าของตนเองมาวางขาย อีกฝั่งจะมีเวทีและด้านหน้าเวทีจะปูเสื่อขนาดใหญ่เพื่อให้คนมาเดินได้นั่งพัก พูดคุย ทานอาหาร โดยในส่วนของร้านค้าจะมีทั้งพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยและชาวต่างชาติบางส่วน ซึ่งภายในตลาดนี้ต้องบอกว่าของที่นำมาขายส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอินทรีย์ ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบที่ปลูกเอง ทำเอง เลี้ยงเอง ดังเช่น ผัก ข้าว หรือไข่ไก่ นอกจากนั้นก็จะมีอาหารที่ทำจากวัตถุดิบ Organic เช่น ผัดไท พิซซ่า ชีสนมแพะ ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน ข้าวซอย สลัด น้ำผลไม้ และ เบเกอรี่ต่างๆ และยังมีสินค้าสำเร็จรูปจำพวก แยม ซอส เสื้อผ้า หรือสบู่ โดยภายในตลาดจะรณรงค์ไม่ใช้พลาสติกอีกด้วย

ร้านค้าส่วนใหญ่ที่มาเปิดขาย จากที่ได้ถามมา จะเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับสินค้า Organic อยู่แล้ว เช่น ปลูกวัตถุดิบเอง หรือเปิดร้านขายอาหาร Organic เมื่อมีการจัดกิจกรรมนี้ จึงชักชวนกันมาเปิดบู๊ต หรือบอกต่อๆกันมา

บริเวณภายงานมีบู๊ตตั้งเรียงราย
สินค้าจำพวกของสด อาหาร เบเกอรี่
สินค้าสำเร็จรูป

ดังที่ได้บอกไป ร้านค้าส่วนใหญ่จะขายสินค้า Organic หรือเกษตรอินทรีย์ อย่างเช่นร้าน พันพรรณ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงของ โจน จันได ก็มีการนำผักที่ปลูกเองมาวางขายในตลาดด้วย ซึ่งก็มีทั้งผักกาด มะเขือเทศ เป็นต้น

สินค้าพืชผักจากกลุ่มพันพรรณ

มะเขือเทศสดออร์แกนิคจากพันพรรณ

ร้านขายผักอีกร้านคือ ร้านขายพืชผักเกษตรอินทรีย์ที่มาจากลำพูนด้วย ซึ่งจะขายที่กาดแม่ทา และเป็นผักที่ปลูกเองจากกลุ่มเกษตรกรแม่ทา

ผลิตผลออร์แกนิคจากลำพูน

ในส่วนของร้านที่ขายอาหาร ก็มีตัวอย่างเช่นร้าน Farm Story house ของ ยายรัญ หรือ จรัญญา ทองเหลือง ซึ่งจะขายผัดไทเป็นหลัก แต่บางอาทิตย์ยายบอกว่าจะมีน้ำพริกกะเหรี่ยงกับน้ำพริกถั่วเน่าด้วย โดยยายเล่าว่าวัตถุดิบทั้งหมดของร้านส่วนใหญ่เป็นสินค้า Organic ทั้งนั้น ซึ่งอาหารหลักของร้านอย่างผัดไท ในหนึ่งจานก็เต็มไปด้วยออร์แกนิคทั้งหมด โดยเส้นผัดไทเป็นของร้านมหาจำลองซึ่งผลิตจากข้าวเจ้า ถ้ามาจากตลาดมักจะใส่น้ำมันเยอะ แต่เส้นของที่นี่ยายบอกว่าธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ ถั่วงอกก็ซื้อถั่วเขียวมาเพาะเอง ยายเล่าว่าหากซื้อจากตลาดมักจะใส่สารฟอกขาว และผักก็ปลูกเอง ทำเองหลังบ้าน แน่นอนว่าต้องปลอดสารเคมีทุกอย่าง ซึ่งปุ๋ยที่ใช้ยายบอกว่าจะเป็นปุ๋ยหมักใบไม้ผสมกับขี้วัวและนมสด หมักสองเดือนด้วยกันก็จะได้เป็นปุ๋ยไว้ปลูกผัก นอกจากนั้นที่ร้านของยายรัญยังมีข้าวหอมนิล ซึ่งปลูกเองจากอำเภอพร้าว และสบู่ที่ทำด้วยกาแฟกับน้ำผึ้งขายด้วย


“ยายทำทานเองแล้วก็อยากให้คนอื่นได้ทานอาหารที่มีคุณค่าจริงๆด้วย อย่างข้าวสวยขาวทั่วไป กว่าจะอิ่มต้องกินเยอะ แต่ข้าวหอมนิลของยายกินนิดเดียวก็อิ่ม อยู่ท้องแล้ว” ยายรัญกล่าว

อีกร้านคือร้านของแม่บานเรือน ซึ่งจะขายอาหารหลักคือ ไข่ป่าม และผักต่างๆที่ปลูกเอง เช่น คะน้า เชียงดา ผักกาด ตะไคร้ และผักสลัด ซึ่งไฮไลต์ของร้านคือ ไข่ป่าม ไข่ปรุงรสที่ทำจากไข่ไก่ชั้นดี ซึ่งไก่ที่เลี้ยงจะเลี้ยงแบบปล่อย ไม่เลี้ยงในกรง และอาหารที่ให้ก็จะเป็นอาหารอินทรีย์ เช่น แกลบ ปลายข้าว และกากถั่วเหลือง ซึ่งอันหลังจะซื้อมาจากตลาด

ไข่ป่าม ไข่ออร์แกนิคจากไก่ที่เลี้ยงอิสระด้วยปุ๋ยออร์แกนิค

นี่เป็นร้านกาแฟจากสวนลาหู่ จังหวัดเชียงราย ซึ่งสวนกาแฟจะเป็นสวนออร์แกนิค สามารถไปดูรายละเอียดได้ที่ www.suanlahu.org

ร้านขายซอสจากชายชาวญี่ปุ่นชื่อคุณยูกิ (ใส่หมวก) ซึ่งจะมีทั้งซอสมายองเนส ซอสเทริยากิ ซอสมิโสะ ซอสกิมจิ และอีกหลายอย่าง

แซนวิชอโวคาโดจากร้าน Bird’s nest café ซึ่งไก่จะเลี้ยงปล่อย ไม่เลี้ยงในกรง ส่วนไข่ที่ได้แน่นอนว่าเป็นออร์แกนิค ส่วนผักสดก็จะนำมาจากแม่ค้าบ้าง ตลาดเกษตร มช. บ้าง และตลาดทั่วไปบ้าง

ร้านขายชีสนมแพะโฮมเมดจากชายชาวต่างชาติ รสชาติกลมกล่อม

ร้านขายพิซซ่า แน่นอนว่าส่วนผสมต้องเป็นออร์แกนิค

เบเกอรี่โฮมเมดก็มีให้เลือก มีบริการให้ชิมฟรีด้วย
บราวนี่จากร้านเบเกอรี่โฮมเมด

หากเดินดูจนเหนื่อยแล้วอยากได้น้ำผลไม้สักแก้วไว้เดินจิบ หรือหาที่ร่มๆนั่งดื่มก็ไม่เลว

น้ำผลไม้ออร์แกนิคไว้ให้เลือกซื้อหลายชนิด
น้ำมะพร้าวสดคนละลูกหาที่นั่งใต้ร่มเงาไม้แล้วหย่อนตัวลงสัมผัสกับพื้นหญ้า

ในส่วนของสินค้าสำเร็จรูปก็มีสบู่ซึ่งทำจากน้ำมันมะพร้าวนำไปตุ๋นก็ผสมด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น มะขาม มะละกอ โดยไม่มีการแต่งสีใดๆ

เมื่อลองดมดูจะได้กลิ่นหอมอ่อนๆจากน้ำมันมะพร้าว

มุมสลัดออร์แกนิค

สินค้าอื่นๆก็มีประปราย เช่น ถ้วย ชาม ทำจากไม้สัก หรือ ผ้าปูโต๊ะ เสื้อผ้าสำเร็จรูปต่างๆ

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้มาร่วมงานบางคน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่สนใจในเรื่องสุขภาพและอาหารออร์แกนิค อย่างเช่นคุณทรายซึ่งเคยทำงานเป็นอาสาสมัครที่พันพรรณ และย้ายจากเมืองหลวงมาอยู่เชียงใหม่ได้ประมาณปีนึงแล้ว ซึ่งเธอก็เป็นอีกคนที่ยกมือเห็นด้วยกับตลาดนัดแบบนี้ เพราะความที่ต้องการเห็นอาหารที่ดีและมีคุณภาพมากกว่าอาหารที่เน้นปริมาณโดยไม่ใส่ใจร่างกายและสิ่งรอบข้าง


“เห็นด้วยนะคะ เพราะสมัยนี้อาหารปนเปื้อนสารเคมีเยอะ พอเห็นว่ามีพ่อค้าแม่ค้ามาขายแนวนี้ก็น่าสนับสนุน”  เธอกล่าว

คุณทราย ผู้มาเยือนตลาดแห่งนี้ (คนขวา)

“ดีใจที่คนไทยสนใจสุขภาพมากขึ้น แล้วก็ดีใจที่คนขายอาหารเริ่มสนใจในเรื่องคุณภาพอาหารมากกว่าราคา เพราะอาหารออร์แกนิคมันเหมือนเป็นการสร้างสังคมสีเขียวด้วย”  คุณทรายกล่าวทิ้งท้าย

กวาดสายตาไปมาภายในงานแว้บเดียวก็สามารถบอกได้เลยว่าผู้ที่มาเดินจับจ่ายส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องอาหารออร์แกนิคเช่นกัน อย่างเช่น Mr.Emmanuel ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ปราดเดียวที่มองดูก็รู้ว่าเขาสนใจในเรื่องธรรมชาติมากขนาดไหน เพราะเขาเดินภายในงานโดยไม่ใส่รองเท้า ซึ่งเขาบอกกับเราว่าเป็นเพราะเขาอยากให้ร่างกายเป็นหนึ่งกับธรรมชาติ และที่มาเดินในตลาดนี้เพราะสนใจในอาหารออร์แกนิคมากกว่าอาหารตามร้านใหญ่

“วัตถุดิบออร์แกนิคพวกนี้สารเคมีน้อย อีกอย่างผมสนใจร้านอาหารเล็กๆพวกนี้มากกว่าร้านใหญ่ๆ”

“ที่สำคัญ ราคาถูก”  Emmauel บอกกับเราด้วยรอยยิ้ม

Mr.Emmauel ผู้มาเดินตลาด จากฝรั่งเศส

เมื่อถามถึงเรื่องที่ไม่ใส่รองเท้าเขาก็บอกกับเราว่าเป็นเพราะเขาอยากสัมผัสธรรมชาติโดยตรง

“เวลาผมไม่ใส่รองเท้าแล้วเหยียบบนพื้นหญ้าพื้นดินผมจะรู้สึกว่าได้สัมผัสกับธรรมชาติโดยตรง เหมือนเท้าได้ดูดซับพลังงานจากดินจากหญ้าหล่อเลี้ยงขึ้นมาถึงหัวผมเลย”

“ถ้าเดินในเมือง ในถนนผมก็ใส่รองเท้านะ แต่ถ้ามาที่แบบนี้ผมไม่ใส่” Emmanuel ทิ้งท้าย

บรรยากาศภายในตลาดนัดชาวสวน ผู้ที่มาภายในงานกว่า 80 % เป็นชาวต่างชาติ

ช่วงเวลาบ่ายสามโมงถึงหกโมงเย็นก็มีดนตรีโฟล์คซองบรรเลงอย่างไพเราะ กับมุมที่นั่งพักต่างๆใต้ร่มเงาไม้
ดนตรีโฟล์คซองสบายๆขับกล่อมบรรยากาศที่ล้อมรอบด้วยสีเขียว
หนูน้อยชาวต่างชาติที่ลุกขึ้นมาเต้นตามจังหวะดนตรี
นั่งพักสบายๆบนเสื่อที่ปูไว้บนสนามหญ้า

ดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันคนจำนวนมากเริ่มหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น โดยมักจะเลือกในสิ่งที่สร้างปัญหาต่อสุขภาพน้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันอาหาร Organic เป็นทางเลือกที่ค่อนข้างตอบโจทย์ เพราะนอกจากจะปลอดสารเคมีและการปรุงแต่งใดๆที่จะก่อให้เกิดสารตกค้างในร่างกายเราแล้ว ที่ยอดเยี่ยมไปกว่านั้นคือในการปลูกก็ยังไม่ทำลายดินและระบบนิเวศด้วย เรียกว่าได้ทั้งสองต่อเลยทีเดียว

ชุมชนสีเขียวเล็กๆแห่งนี้ยังคงเปิดบริการให้ผู้ที่สนใจแวะเวียนมาจับจ่ายใช้สอย พบปะและพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะกันทุกวันศุกร์ ที่ห้องสมุดฟื้นบ้าน ย่าน เวียงเชียงใหม่ หลังหอศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่นอกจากจะใส่ใจสุขภาพแล้ว ยังมีความรับผิดชอบและใส่ใจต่อธรรมชาติและโลกใบนี้ด้วย อืม…สุดยอด

ท่านใดที่มีที่เที่ยวน่าสนใจแนะนำเจ๋งเข้ามาได้ อย่าลืมแวะมา Comment มาแชร์ให้เจ๋งได้รู้ตามช่องด้านล่างหรือ

  

เจ๋งจะตามไปรีวิวอย่างทันท่วงที

Relate Posts :