เจาะเวลา หาอดีต สำรวจ 9 อาชีพที่ถูกลืม เมืองเชียงใหม่

จำได้ไหม ตายายยังจำได้ไหม… ลุงป้ายังจำได้ไหม…. พอ! นี่ไม่ได้จะมายุ่งการเมืองหรืออะไร แต่ที่เกริ่นมาเป็นเนื้อเพลงฮิตของ คสช.ซะขนาดนี้ก็เพราะว่าวันนี้เราจะมาบอกเล่าและทวนความจำเกี่ยวกับอาชีพที่ถูกลืม (บางอันก็เกือบๆหายไปแล้ว) ในสังคมโดยเฉพาะเชียงใหม่เรานั่นเองมีบ้างไหมที่เมื่อเราผ่านไปยังสถานที่บางแห่ง แล้วพบว่าที่ตรงนั้นมันคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยมีอะไรอยู่กระทั่งลองนึกดูดีๆจึงระลึกได้ว่ามันเคยมีร้านบางอย่างอยู่ตรงนั้นแต่มันหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่แล้วก็ไม่รู้ หรือบางสิ่งบางอย่างที่เมื่อเรานั่งนึกดูดีๆ มันเคยเกิดขึ้นกับเราในบางห้วงสมัยก่อน แต่เพราะเวลาได้พามันเลือนจางหายไปจากความคิดและความสนใจ แต่เมื่อนึกดีๆมันกลับไม่เคยหายไปจากความทรงจำเลย วันนี้เราจึงจะพาไปสำรวจตรวจตราอาชีพที่ถูกลืมในเชียงใหม่มาให้ระลึกถึง ไม่แน่ว่าอาจมีบางอาชีพอยู่ในความทรงจำของคุณผู้อ่านบ้างก็ได้ !

1. คนขายแผ่น MP3 

ย้อนไปสมัยก่อนในช่วงที่เป็นเด็กมัธยมยังไม่มีรายได้และอินเตอร์เน็ตยังไม่ลื่นหัวแตกเหมือนปัจจุบัน ผมเชื่อว่านักฟังเพลงหลายคนเฝ้าถวิลและคอยสอดส่องหาสุดยอดไอเท็มสำหรับคนชอบฟังเพลง แผ่นซีดีที่เรียกได้ว่าเป็นปิศาจสำหรับคนทำเพลง และเป็นเหมือนเทพสำหรับคนฟังเพลง นั่นคือแผ่น Mp3 แผ่นซีดีที่รวบรวมเพลงฮิตจากศิลปินมากมายหลายสิบคน หลายร้อยเพลงในแผ่นเดียวนั่นเอง สำหรับในเชียงใหม่เอง แหล่งที่เป็นที่รู้จักที่สามารถหาได้ง่ายในอดีตก็เช่นอาณาจักรคอมพิวเตอร์อย่าง Computer plaza หรือ Icon เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันผู้ขายแผ่น Mp3 ได้ลดลงจนแทบเรียกได้ว่าเกือบหายหมดแล้ว

แผ่นในตำนานอย่าง Vampires
แผ่นที่ตีคู่กันมาอย่าง ประเทือง

“เมื่อก่อนมีเป็น 10 ร้าน แต่ตอนนี้เหลือแค่ร้านเดียว” ผู้ขายรายหนึ่งกล่าวกับเรา “แต่ก่อนคนขายกันคึกคัก คนซื้อก็คึกคัก เพราะตอนนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่นิยมและไม่แรงขนาดปัจจุบัน ทำให้คนมาซื้อแผ่นเยอะ แต่เดี๋ยวนี้อินเตอร์เน็ตแรง คนก็ไปนิยมโหลดจากเน็ตแทน” แล้วทำไมคนขายลดลง ? “ตำรวจเยอะ ค่าลิขสิทธิ์แพงขึ้น คนหันไปนิยมอินเตอร์เน็ต แล้วคนขายตามตลาดนัดก็ต้องจ่ายส่วยแพง ก็เลยไม่ไหวกัน” แล้วคนที่เคยขายเขาหายไปไหนกัน ? “ก็ไปหาอาชีพอื่นทำ บางคนก็เปิดแค่ร้านเช่าหนังอย่างเดียวไปเลย แผ่น Mp3 ก็เอาออก” “อินเตอร์เน็ตนี่แหละคือตัวแปรที่สำคัญ” ผู้ขายรายหนึ่งกล่าว


2. ร้านซ่อมคอม/ปริ้นเตอร์/ลงโปรแกรม

เด็กสมัยนี้ที่เกิดมาพร้อมความสะดวกสบายทางเทคโนโลยีอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าคนทำงานยุคก่อนต้องประสบพบเจออะไรที่ทั้งโหด ทั้งมันส์ ทั้งฮาบ้าง แต่ก่อนช่วงที่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (จอนูน เคสตัวใหญ่ มีลำโพงแยกสองข้าง) ยังเป็นที่นิยมก่อนยุคสมัยของโน๊ตบุ๊คและแท็บเล็ตจะเข้ามา การทำงานแต่ละครั้งต้องลุ้นกันแทบตาย เพราะหากคอมเสีย หรือเครื่องปริ้นเตอร์เจ้ากรรมดันมาพัง ก็ต้องหอบหิ้วกันทั้งหนักๆอย่างนั้นไปหาร้านซ่อมที่แต่ก่อนมีมากมายทุกมุมเมืองเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันแทบหาค่อนข้างยากแล้ว

“เดี๋ยวนี้ร้านตามซอกซอยก็ยุบไปอยู่ในอาคารใหญ่หมดแล้ว เมื่อก่อนเครื่องปริ้น จอมอนิเตอร์ก็คล้ายปัจจุบันนี่แหละ แต่อะไหล่จะแพงเพราะมันเพิ่งเข้ามาใหม่” คุณเป็น-พิศาลสุทธิ์ เจ้าของร้านซ่อมคอมที่เปิดบริการมากว่า 20 ปีแล้ว บอกกับเรา “เมื่อก่อนซ่อมคอมทีได้ราคาสูง แต่เดี๋ยวนี้คู่แข่งเยอะ อะไหล่ก็ถูกลง มีช่วงหนึ่งที่โน๊ตบุ๊คบูม เป็นช่วงเวลาทองเลย เพราะเสียเปลี่ยนทีก็หลายบาท แต่เดี๋ยวนี้ถูก” “คอมตั้งโต๊ะแต่ก่อนจอโค้งเสียทีคนก็จะแห่มาซ่อม เดี๋ยวนี้จอแบนเสียทีคนก็มักซื้อใหม่ไปเลย” เดี๋ยวนี้ร้านปิดเยอะเพราะอะไร ? “ค่าเช่าที่แพง อะไหล่ถูกลง เศรษฐกิจแพงขึ้น การซ่อมน้อยลงเพราะมลภาวะเยอะ อีกอย่างเด็กเดี๋ยวนี้ศึกษาจากอินเตอร์เน็ตง่าย ยกเว้นเรื่องเฉพาะทางจริงๆ” คุณเป็นกล่าว “ร้านผมที่ยังเปิดแยกมาได้ทุกวันนี้เพราะใจรัก แล้วฐานลูกค้าก็ยังมีอยู่ ที่สำคัญเราบริการแบบเป็นกันเอง คือให้ใจลูกค้า” เจ้าของร้านซ่อมคอมที่ยังยืนหยัดกล่าวกับเรา


3. คนวาดโปสเตอร์     

ย้อนกลับไปในสมัยก่อนนานขึ้นอีกนิด ผู้ใหญ่หลายคนอาจคุ้นชินกับภาพวาดทั้งภาพโฆษณา โปสเตอร์หนัง หรือป้ายประกาศตามสถานศึกษาและวัดวาอารามต่างๆ ซึ่งวาดด้วยมือและฝีมือของจิตรกรล้วนๆ แต่ในปัจจุบันเรียกได้ว่าแทบจะเลือนหายไปแล้ว เพราะการเข้ามาของไวนิล แต่ก็ยังพอมีบางร้านที่ยังเขียนโปสเตอร์ด้วยมือ ให้พอได้ระลึกนึกถึงกลิ่นอายของบรรยากาศเก่าๆอยู่บ้าง


“เมื่อก่อนคนวาดเยอะ เพราะคอมไม่มี คนก็ชอบมาฝึกฝีมือ มาวาดป้ายโฆษณา ตัวอักษร”
“เดี๋ยวนี้ไวนิลเข้ามา ป้ายวาดมือก็หาย คนวาดก็ยังมีแต่น้อยมาก เพราะไวนิลมันให้งานที่กระด้าง”

คุณป้าท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนามซึ่งยังประกอบอาชีพนี้แถวสันติธรรมกล่าว
“แต่ก่อนทำงานทั้งวันทั้งคืน งานมีตลอด รายได้ดี วันนึงทำเป็นสิบ เดี๋ยวนี้ฝืด เพราะร้านไวนิลเยอะ”
“แม้แต่วัดวาอารามที่ควรอนุรักษ์ป้ายวาดมือก็ยังหันไปทำไวนิลกันเยอะเลย” แล้วทำไมป้ายังทำ ?
“ชอบ แล้วชอบฝึกด้วย อีกอย่างทุนน้อย ไวนิลมันสำหรับคนที่มีเงิน” ป้ากล่าวทิ้งท้าย


4. ร้านเช่าหนังสือ

ว่ากันว่านอกจากอินเตอร์เน็ตแล้ว หนังสือคือเพื่อนที่ดียามเราอยู่คนเดียวเปลี่ยวเหงาในยามค่ำคืน (เหรอ?) แต่มันคือเรื่องจริง วัดจำนวนได้จากร้านเช่าหนังสือที่ทยอยเปิดกันครึกโครมโดยเฉพาะแถบสถานศึกษา (โรงเรียน, มหาลัย) บางคนก็เช่าการ์ตูนทีเป็นสิบเล่ม นอนอ่านทั้งคืนจนตื่นสายไปเรียนไม่ทันก็โดดมันซะเลย(แน่ะ!) แต่ปัจจุบันเนื่องจากเศรษฐกิจอันฝืดเคือง และการมาถึงของหนังสือออนไลน์ เช่น E-book ก็นำมาซึ่งสัดส่วนของร้านเช่าหนังสือที่ต้องปิดตัวตามไป


ข้างๆกับแผงหนังสือการ์ตูนมีสินค้าเครื่องสำอางค์ขายเสริม
“เมื่อก่อนเปิดเยอะมาก แทบจะเปิดร้านติดกันเลย แต่เดี๋ยวนี้ปิดเยอะ เศรษฐกิจไม่ดี ยอดเช่าก็ตก คนก็เลยหาย ที่สำคัญเดี๋ยวนี้คนหันไปหาอ่านจากในเน็ตกันเยอะ” คุณวรรณีเจ้าของร้านเช่าหนังสือที่เปิดมากว่า 7 ปี เล่าให้ฟัง
“แต่ก่อนร้านเปิดเยอะ คนอ่านเยอะ คึกคัก เดี๋ยวนี้เงียบมาก เมื่อก่อน 1-2ทุ่ม คนเข้าออกร้านตลอด เดี๋ยวนี้แทบไม่มีสักคน”
ในส่วนของลูกค้าและหนังสือที่นิยมล่ะ ?
“ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็น นร. นศ. ที่มาเช่าการ์ตูน แต่เดี๋ยวนี้คนอ่านนิยายเพิ่มขึ้น 50-70 % เลย” ในแง่รายได้ปัจจุบัน ?
“แต่ก่อนดีกว่านี้เยอะ เดี๋ยวนี้พอยอดหนังสือน้อยลง ก็ต้องหาอะไรทำเสริมในร้าน เช่น ทำของ ขนม เพราะค่าเช่าก็แพงขึ้นอีก”

5. เจ้าของร้านเกมส์

“ฉันพร้อมแล้วเพื่อนเอ๋ย…พร้อมจะลุยกันมานานแล้ว…ฮ่าๆ โย่ว !”  ขึ้นต้นประโยคมาแบบนี้รับรองวัยรุ่นยุค 90 หลายคนต้องรู้จักวลีเด็ดนี้แน่นอน เพราะมันมาจากเกมส์ยิงปืนสุดฮิตในตำนานอย่าง Counter-Strike ได้ยินประโยคนี้ทีไรก็มักจะนึกไปถึงช่วงเวลาหลังเลิกเรียนที่ต้องยกพวกกันเป็นฝูงข้ามถนนไปยังร้านเกมที่ตั้งอยู่เรียงรายหน้าโรงเรียน ไหนจะถนนเส้นตำนานอย่างกาดธานินทร์ที่ถือเป็นแหล่งนัดพบปะท้าดวลของเหล่าเกมเมอร์ทั้งหลายซึ่งจะมาห้ำหั่นกันทั้งเย็น(บางครั้งก็กลางวันแสกๆ)วันจันทร์-ศุกร์ และเสาร์-อาทิตย์ (สุดสัปดาห์บางครั้งอาจยาวนานข้ามวัน) เราทราบดีว่าสองฝั่งถนนเคยเต็มไปด้วยร้านเกมส์ที่ตั้งติดๆกัน ทั้งออนไลน์ และ Play Station แต่ปัจจุบันใครจะสังเกตหรือไม่ว่าร้านเหล่านี้ได้หายไป บ้างก็เปลี่ยนถ่ายผู้เช่าไปสู่ร้านอื่นแทบจะทั้งหมด จนเหลือเพียงไม่กี่ร้านเท่านั้น

ถนนกาดธานินทร์ซึ่งในอดีตเคยเป็นสมรภูมิรบที่ดุเดือดทั้งสองฟากฝั่ง
พี่ปิยะ เจ้าของร้านเกมส์ Blue angle หรือ ร้านยะ ที่โด่งดังของเด็ก มช. ซึ่งเปิดร้านมานานกว่า 20 ปีแล้ว เล่าว่า
“จริงๆมันเป็นวัฎจักรของร้านเกมส์ คนส่วนใหญ่ที่เปิดมักจะไม่ได้ศึกษาข้อมูล เพราะมองว่าเปิดง่าย ลุงทุนไป นั่งเก็บเงิน เราเลยเห็นสมัยก่อนวูบวาบมาก แต่ระยะยาวก็ไป”

“ร้านเกมส์ทุกสมัยส่วนใหญ่จะเปิดๆปิดๆ เดี๋ยวนี้ปริมาณร้านก็มี แต่ความหนาแน่นน้อยลง hardware ถูกลง Internet ถูกลง คนมีมือถือ มีIphone ไม่จำเป็นต้องเล่นร้านก็ได้” แล้วทำไมความนิยมลดลง แล้วร้านเก่าๆปิดเยอะ ?
“อย่างที่บอกมันเป็นวัฏจักร อีกอย่างธุรกิจร้านเกมส์จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะต้องหาอะไรใหม่ๆมาเรื่อยๆ คนเลยถอดใจ”
“อีกอย่างจะบอกว่าร้านเกมส์มันก็ยังมี แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีสะดวกสบายขึ้น การที่คนจะมาเล่นร้านก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป หลายร้านเก่าๆเลยต้องปิดตัวลง” พี่ปิยะสรุป
________________________________________________________________________

6. ร้านตัดผมบาร์เบอร์

อีกร้านหนึ่งที่ดูเผินๆเหมือนจะไม่ได้หายไปไหน แต่แท้จริงแล้วมันกำลังค่อยๆเลือนหายไปโดยถูกแทนที่ด้วยร้านตัดผมที่มีสไตล์แปลกใหม่และราคาแพงมากมาย ย้อนกลับไปหลายปีก่อนในเชียงใหม่ทั้งในตัวเมืองและรอบนอกร้านตัดผมบาร์เบอร์เป็นที่นิยมโดยเฉพาะในหมู่เด็กนักเรียนกับทรง “หัวเกรียน” ในตำนานของเด็กไทย ร้านบาร์เบอร์มักจะเป็นร้านเล็กๆริมทาง สร้างโดยไม้ ด้านในมีที่นั่งตัดผมไม่กี่ที่ ประดับประดาไปด้วยถ้วยโชว์วิ่งแข่งมาราธอน (??) และคุณลุงช่างตัดผมแก่ๆคอยรับแขก แต่ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยน ไลฟ์สไตล์คนก็เปลี่ยนร้านเหล่านี้จึงค่อยๆล้มหายตายจาก เหลือก็เพียงแค่บางร้านที่ก็ต้องดิ้นรนปรับเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอด

“เมื่อก่อนร้านมีเยอะ ค่าตัดผมก็ถูก เดี๋ยวนี้ค่าตัดผมแพงขึ้น เพราะเมื่อก่อนของอะไรๆก็ถูก ค่าเช่าที่ก็ถูก” คุณลุงเจ้าของร้านตัดผมศิลปะบาร์เบอร์ ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่กว่า 20 ปี บอกกับเรา แต่ปัจจุบันแม้ร้านจะตั้งอยู่ที่เดิม แต่ตัวร้านเองก็ต้องปรับเปลี่ยนให้อยู่รอดเช่นกัน “แต่ก่อนร้านเป็นห้องแถวเล็กๆ เป็นห้องต่ำๆสร้างด้วยไม้ แต่เพิ่งมาทุบเปลี่ยนเป็นปูนได้ 3 ปีมานี้ เพราะอยากให้มันดูดี ทันสมัยขึ้น”เดี๋ยวนี้บรรยากาศการเปิดร้านบาร์เบอร์ยังเหลืออยู่ไหม ? “ก็มี แต่ตามถนนใหญ่จะน้อยลง เพราะค่าเช่าแพง คนก็หันไปเปิดตามรอบนอก หรือตามตรอกซอกซอยแทน เพราะค่าเช่าถูก” “คนที่เหลือก็ปิดไปเลย อยู่ไม่ได้ ค่าเช่าแพง บางคนก็ไปค้าขาย ขายข้าวแกงกันแทน”


7. คนทำเมี่ยง

สมัยก่อนหากใครมีปู่ย่าตายาย หรือมีบ้านญาติที่อยู่บนดอย หรือชนบทหน่อยต้องคุ้นเคยกับอาหารชนิดนี้แน่นอน เพราะค่อนข้างปลูกและทำกินกันเยอะ โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ที่ทำสวน ทำไร่ ก็มักจะประกอบอาชีพทำเมี่ยงกัน ซึ่งหาทานได้ง่าย คนเมืองนิยมนำเอามาเป็นอาหารทานเล่น แต่ปัจจุบันแทบจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่บ้างตามตลาดบางแห่ง

*เมี่ยง ทำมาจาก ต้นชา

“คนอายุ 30-40 ปี ขึ้นไปนี่รู้จักแน่นอน เพราะเขากินเมี่ยง เดี๋ยวนี้จะมีตามงานศพ รอบนอก คนไม่ค่อยนิยมกินกันแล้ว” ยายบุญ คนขายเมี่ยงแถวตลาดช้างเผือกเล่าให้ฟัง
“แต่ก่อนคนเมืองทำเยอะ กินกันเยอะ แต่เดี๋ยวนี้คนสมัยใหม่ไม่รู้จักกันแล้ว”
การบริโภคปัจจุบันเป็นยังไง ? “น้อยลง ยังมีหลงเหลือที่คนแก่บ้าง แต่การปลูกน้อยลง เด็ก 10-20 ปี มานี้ไม่รู้จักกันแล้ว”
บรรยากาศสมัยก่อนเป็นอย่างไร? “คนทำเยอะ กินเยอะ นิยมเอามากินเล่น แต่กินแล้วฟันเหลือง เอาไว้กินเพลินๆนั่นแหละ แต่ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรหรอก”
“สมัยก่อนนี่มีขายแทบทุกตลาด ทั้งคนที่ปลูกทำขายเอง แล้วก็แม่ค้าที่รับมาแบ่งขายเป็นก้อน ครึ่งก้อนอีกที ไปตลาดไหนก็มี ร้านชำก็ยังเอามาขาย แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่มีแล้ว” ยายบุญบอกกับเรา


8. ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า

อีกอาชีพที่เชื่อว่าเอ่ยมาแล้วคนคงไม่ทันนึกว่ามันหายไปได้ยังไง? หายไปแล้วเหรอ? นี่ชั้นยังเห็นร้านตัดเย็บเสื้อผ้าใหญ่ๆตามถนนสายดังๆในเชียงใหม่อยู่เลยนะ? แต่ความจริงแล้วร้านเหล่านั้นเรียกว่า “ร้านซ่อมเสื้อผ้า” จะเหมาะกว่า เพราะร้านที่ตัดเย็บเสื้อผ้าเป็นชุดจริงๆแล้วนั้น ค่อนข้างจะหายากแล้ว คนก็ลืม เพราะนิยมไปซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปกันซะส่วนใหญ่ จนเดี๋ยวนี้หาร้านตัดเย็บเสื้อผ้าแบบนี้ได้น้อยเต็มที

“เมื่อก่อนงานตัดเย็บเสื้อผ้ามีเยอะแยะ เยอะจนทำไม่ทัน มากจนล้นมือ ร้านตัดเย็บก็เยอะมาก ท่าแพมีเป็น 10 ร้าน บรรยากาศก็คึกคัก อย่างที่บอกงานล้นมือ ทำกันทั้งคืน ตื่นตี4 นอนตี2” ลุงจักร ช่างตัดเย็บผ้าที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2508 เล่าให้ฟัง “ปัจจุบันงานน้อยลง คนนิยมซื้อสำเร็จรูปมากกว่า แล้วก็ค่อยมาแก้ไข เช่น ตัดสั้น เอาขากางเกงเข้า” เพราะอะไรคนถึงลืม ? “ผ้าสำเร็จรูปเข้ามาเมื่อสัก 10 ปี งานร้านตามตรอกซอกซอยก็หมดไป เพราะงานน้อยลง บางร้านก็เลิกไปเลย” คนที่เคยทำเขาหายไปไหนกัน ? “ส่วนมากก็เลิกไปทำอาชีพอื่นนั่นแหละ”


9. คนวาดภาพเหมือน

อีกอาชีพยอดนิยมที่ใครหลายคนอาจคิดว่าถูกหลงลืมไปแล้ว แต่จากการลงพื้นที่หาข้อมูลพบว่าปัจจุบันเชียงใหม่เรายังมีคนประกอบอาชีพนี้อยู่ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่กันเป็นกลุ่มตามสถานที่ต่างๆที่มีชื่อเสียง เรียกได้ว่าทั้งในอดีตและปัจจุบันคนนิยมการวาดรูปเหมือนตัวเอง ครอบครัว หรือธรรมชาติของเมืองเชียงใหม่กันเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดว่าบ้านเกือบทุกหลังแทบจะต้องมีรูปเหมือนของคนใดคนหนึ่งในบ้านเลยทีเดียว

“ก็ยังมีเยอะอยู่นะ” พี่แบงค์-ณัฎธีร์ นักวาดรูปเหมือนซึ่งวาดมาแล้ว 23 ปีบอกเมื่อเราถามถึงอาชีพนี้ในปัจจุบัน “ผมเองก็วาดอยู่ที่ไนท์บาร์ซาร์มานานแล้ว แต่มีคนที่อยู่มานานกว่า ก็ 30 กว่าปีมาแล้ว ตอนนี้ชุดแรกนั้นยังเหลืออยู่ 3 คน ที่เหลือก็ตายไปบ้าง”
ความแตกต่างของสมัยก่อนกับสมัยนี้ ? “จะแตกต่างในเรื่องสังคมมากกว่า เด็กใหม่ปัจจุบันความเป็นเพื่อนไม่ค่อยมี เมื่อก่อนจะสนิทกัน” แล้วคนเก่าๆหายไปไหนกันบ้าง ? “เสียชีวิตบ้าง ย้ายไปทำที่อื่นบ้าง ไปต่างประเทศบ้าง บางคนก็เลิกเขียนแล้ว”
บรรยากาศสมัยก่อน ? “พวกยุโรปจะมาให้วาดเยอะ แต่เดี๋ยวนี้คนจีนมาเยอะกว่า ยุโรปก็จะหายไป เพราะคนยุโรปไม่ค่อยชอบอะไรที่โวยวายโหวกเหวก” “อีกอย่างเดี๋ยวนี้มีงานศิลปะแนวอื่นมากขึ้น เช่น งานปาด ก็จะไปลดราคางานวาดไป” รายได้แต่ก่อนกับปัจจุบันล่ะ ? “เมื่อก่อนรายได้ดีกว่ามาก เอาตรงๆก็หายไปจากเมื่อก่อน 45 % เลย” พี่แบงค์กล่าว


จากการสำรวจอาชีพเหล่านี้ผมพบได้ว่าแม้แต่ตัวผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ลืมบางอาชีพที่เคยใช้บริการบ่อยๆ ไปเลย ทั้งๆที่เชียงใหม่เป็นบ้านเกิดที่ผมอยู่มานมนานแท้ๆ แต่จะด้วยอะไรก็ตามที ทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามา การเติบโตขึ้น หรือ จิตใจคนที่เปลี่ยนไป ทำให้อาชีพเหล่านี้ค่อยๆถูกกลืนตามกระแสเวลาและค่านิยมไป แต่วันนี้หากเราได้ลองมองอีกมุมที่เราไม่เคยรู้เกี่ยวกับอาชีพเหล่านี้ ก็อาจทำให้เราหันมามองสิ่งที่เคยทำให้ใจเรากระชุ่มกระชวยในอดีต และหันไปอุดหนุนสิ่งเหล่านี้บ้าง แม้จะเป็นไปตามกฎของกาลเวลาที่ว่า “เก่าไป ใหม่มา” แต่อย่างน้อยการที่ยังมีบุคคลที่ยึดมั่นในอาชีพเหล่านี้ มันก็ยังคอยเป็นเครื่องช่วยย้ำเตือนความสุขในอดีตให้เราได้เช่นกัน….คุณคิดเหมือนผมมั้ย ?

ท่านใดที่มีเรื่องราวน่าสนใจแนะนำเจ๋งเข้ามาได้ อย่าลืมแวะมา Comment มาแชร์ให้เจ๋งได้รู้ตามช่องด้านล่างหรือ

เจ๋งจะตามไปรีวิวอย่างทันท่วงที

Relate Posts :