Humans Of Chiang Mai น้ำ : Filmmaker : คนสร้างหนัง

Humans Of Chiang Mai : กฤติเดช สินเจิมศิริ (น้ำ) อายุ 24 ปี

       ปัจจุบันในโลกของภาพยนตร์พัฒนาไปมากตั้งแต่ระดับโลกอย่างแวดวงฮอลลีวู้ด ไล่เรียงไปเรื่อยทั้งบอลลีวูดของอินเดีย ของเกาหลี ญี่ปุ่น และแวดวงภาพยนตร์ไทย เรียกได้ว่าทุกค่ายต่างงัดไอเดียทำหนังมาประชันกันมากมายบนแผ่นฟิล์มเพื่อดึงดูดเงินในกระเป๋าของ”ผู้บริโภคภาพยนตร์”กันอย่างคึกคักมากมาย รวมไปถึงค่ายเล็กๆ หรือค่ายอินดี้ ที่ระยะหลังมานี้ ผู้ชมเริ่มให้ความสนใจ และหันมามองหนังนอกกระแสเหล่านี้มากขึ้น

       ในแวดวงคนทำหนังของเชียงใหม่เราเองก็มีบุคคลที่รักในการสร้างภาพยนตร์เช่นกัน แม้ภาพยนตร์ที่คนธรรมดาทั่วไปได้ดู ได้ชม บางเรื่องก็สนุก บางเรื่องก็เศร้า บางเรื่องก็ตลก แต่ใครจะรู้ลึกซึ้งถึงเบื้องหลังความเหน็ดเหนื่อยที่กว่าจะเป็นภาพยนตร์ออกมาได้สักเรื่องเท่าคนที่เรียกตัวเองว่า “ผู้สร้างหนัง” เรียกได้ว่าบางทีในการทำงานมันอาจไม่ได้ง่ายและสนุกเหมือนหนังที่ออกฉายเลย

       “น้ำ” กฤติเดช สินเจิมศิริ ผู้กำกับใหม่ไฟแรง ที่พกพาความฝัน ความรักที่มีต่อภาพยนตร์ คืออีกบุคคลที่เราสนใจในชีวิตของเขา เขาเริ่มสร้างหนังสั้นเล็กๆเพื่อส่งประกวดตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ด้วยความมุ่งมั่นและโอกาส ได้นำพาเขาไปฝึกงานในกองภาพยนตร์ใหญ่ และด้วยความตั้งใจ ไม่ลดละ เขายังสร้างหนังอยู่เรื่อยมา จนปัจจุบันกับโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ในภาพยนตร์ยาวเรื่องแรก “รักสารภาพ” ที่มีคิวลงโรงฉายในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งวันนี้เรามีโอกาสได้มาพูดคุยกับผู้กำกับใหม่ไฟแรงคนนี้ในฐานะผู้สร้างหนังกัน

       เราเริ่มต้นบทสนทนาที่ร้านกาแฟร้านหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในโครงการ “บ้านข้างวัด” ในถนนวัดร่ำเปิง น้ำพูดคุยกับเราด้วยท่าทีที่เป็นมิตรแต่มีแววตาที่มุ่งมั่น เราทราบว่าเขากำลังจะเดินทางไปกรุงเทพมหานครในช่วงกลางคืน เพื่อไปเป็นหนึ่งในทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ของ “หม่อมน้อย”

       “ปัจจุบันเป็นผู้กำกับอิสระ คือทำหนังไปเรื่อยๆครับ มีทั้งหนังสั้น หนังยาว แล้วก็มีไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับหนังใหญ่เรื่องอื่นๆบ้าง ส่วนช่วงนี้มีโปรเจกต์ใหญ่ครับกับหนังเรื่อง รักสารภาพ ซึ่งเป็นหนังใหญ่ เข้าโรงฉายช่วงกุมภา ปีหน้าครับ”

       รักสารภาพคือหนังยาวเรื่องแรกในชีวิตของเขา ซึ่งเขามีโอกาสได้ทำ เราจึงสอบถามถึงที่มาของโปรเจกต์นี้

       “มันเริ่มจากการคุยกับน้องๆในกลุ่มคนทำหนัง ว่าเราอยากมีผลงานสักเรื่องหนึ่ง ที่ทำกับน้องๆรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นหนังสั้น แล้วพอเราเริ่มทำจริงๆ ผู้ใหญ่เขาก็เริ่มมาเห็น เข้ามาช่วย เพราะเขาอยากให้เป็นโปรเจกต์ที่ดี เขาก็หาทุนมาสนับสนุนให้ เราก็มองว่าเขาให้ทุนมาขนาดนี้แล้ว เราก็เลยอยากทำให้มันเป็นเหมือนเทศกาล จัดเทศกาลฉายหนังไปเลย”

       “แต่ในการทำหนังเรื่องนี้ เรามองว่ามันไม่ค่อยได้ตอบแทนอะไรสู่สังคม เราเลยเลือกประเด็นหนึ่งขึ้นมา ก็คือเรื่องเด็กกำพร้า มาเป็นประเด็นในหนังเพื่อสื่อสารไปยังคนดู นั่นก็คือเราจะทำหนังให้คนดูได้เห็นถึงมุมมองหนึ่งของเด็กกำพร้าพวกนี้ ซึ่งความจริงแล้วหน้าหนังมันก็เป็นหนังรักทั่วไป เพียงแต่ประเด็นนี้จะเป็นกิมมิคหนึ่งในหนังเท่านั้นเอง และอีกจุดประสงค์ที่เราทำหนังเรื่องนี้คือ เราจะเอารายได้จากการฉายไปบริจาคให้เด็กกำพร้าด้วย”

       จากความตั้งใจเล็กๆที่จะทำหนังเพื่อสังคม กลับกลายมาเป็นโปรเจกต์ที่มีคนสนใจ ทุกอย่างจึงต้องเปลี่ยนแปลง ในการทำงานก็เช่นกัน

       “พอมันใหญ่ขึ้น เราก็เลยเขียนบทใหม่ รีไรท์ใหม่ ขยายให้มันเป็นหนังยาว จนเมื่อมันกลายเป็นหนังใหญ่ มีผู้ใหญ่สนใจ หนังเราก็เลยได้เข้าสู่อุตสาหกรรมหนังไปแล้วเรียบร้อย ได้รอลงฉายในโรงภาพยนตร์เครือ เมเจอร์ แล้วครับ”

       น้ำเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น และดีใจ กับโปรเจกต์ล่าสุดในมือเขา ซึ่งเป็นโปรเจกต์ใหญ่ที่เขาเป็นผู้กำกับเอง แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ น้ำได้ผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกมาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน เรียกได้ว่าเขาเติบโตมากับสายเลือดการทำหนังตั้งแต่เล็กแล้วทีเดียว

       “ชีวิตการทำหนังของผมมันเริ่มมาจากชอบดูหนังมาตั้งแต่ประถม อ่านหนังสือเกี่ยวกับหนังมาเรื่อยๆ แล้วก็รู้สึกว่าอาชีพนี้มันน่าสนใจดี เพราะการที่จะให้คนมาดู มาเห็นถึงมุมมองของคนคนหนึ่ง ผ่านการเล่าเรื่อง ถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ มันน่าสนใจ บางทีเราไปดูหนังเรื่องหนึ่ง เราชอบ เราก็คิดนะว่าอยากเป็นคนหนึ่งที่อยากถ่ายทอดมุมมองเราผ่านภาพยนตร์บ้าง ตั้งแต่นั้นเราเลยเหมือนมีแรงบันดาลใจว่าเราก็มีมุมมองที่อยากเล่าให้คนอื่นบ้าง อยากลองทำอาชีพนี้บ้าง”

       เสน่ห์คือสิ่งที่ดึงดูดใจ และทำให้เราหลงใหลไปกับสิ่งๆนั้น เรียกได้ว่าคนจะสนใจอะไรสักหนึ่งอย่าง เสน่ห์คือสิ่งแรกที่จะทำให้เราหยุดมอง และใช้เวลากับมัน ไปจนถึงได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งๆนั้น ในการสร้างหนังเรื่องหนึ่งก็เช่นกัน น้ำมองว่ามันมีเสน่ห์มากมายทีเดียว

       “มันเปลี่ยนชีวิตคนคนนึงได้เลยนะ ผมเปรียบการทำหนังเหมือนการเข้าวัด เราได้เรียนรู้สัจธรรม การทำหนังก็เหมือนกัน เชื่อว่าชีวิตเราหนึ่งชีวิตเนี่ย การได้ดูหนังสักเรื่องมันเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทัศนคติ การใช้ชีวิตผ่านมุมมองหนัง มุมมองตัวละคร ตรงนั้นผมว่ามันดี มันมีเสน่ห์นะ แล้วผมมาทำตรงนี้ ผมก็เชื่อว่าผมจะเปลี่ยนแปลงความคิดของคนคนหนึ่ง ทำให้คนคนหนึ่งเปิดใจ เปลี่ยนมุมมองใหม่ผ่านหนังได้”

       น้ำเชื่อว่าภาพยนตร์ดีๆสักเรื่องหนึ่ง มีพลังพอที่จะทำให้ชีวิตของคนคนหนึ่งเปลี่ยนไปได้ผ่านมุมมองของหนัง หรือตัวละครที่ถูกสร้างขึ้น นั่นเองคือเสน่ห์ของหนังที่น้ำรู้สึก และสัมผัสได้ว่ามันเป็นจริง

       “ผมอยากเป็นคนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น ทำให้คนอื่นได้ค้นพบเป้าหมายของชีวิต ผ่านภาพยนตร์ของผม หลายคนที่ผมเคยพบมีส่วนมากที่ยังถามตัวเองอยู่ว่าอยากจะทำอะไรในชีวิต ซึ่งมันเป็นปัญหาที่ใหญ่มากนะในชีวิตคนคนหนึ่ง ผมทำหนัง ผมก็อยากให้คนได้ค้นพบเป้าหมายในชีวิตของตนเอง ได้คิดได้เห็นบ้างว่าเราก็ต้องทำอะไรในชีวิตของเราเองด้วย”

       กว่าจะผ่านมาถึงจุดนี้ได้ หากปราศจากจุดเริ่ม ทุกอย่างคงไม่เกิดขึ้น เช่นกันกับทุกคน จุดเริ่มคือจุดที่เราเริ่มจากความว่างเปล่า การลองผิดลองถูกที่ผ่านมา ได้ช่วยสอนอะไรให้เรามากมาย ในการทำหนังก็เช่นกัน ไม่มีใครเข้าใจปรัชญาการทำหนังไปมากกว่าคนที่ทำหนัง


       “จุดเริ่มผมก็เหมือนหลายๆคน คือเริ่มจากการทำหนังในมหาวิทยาลัย ผมรวมกลุ่มกับเพื่อนทำหนังขึ้นมาเรื่องหนึ่งเพื่อส่งประกวด เราเริ่มจากจุดที่ไม่รู้เลยว่าหนังทำอย่างไร ไม่เคยเรียนด้วยซ้ำ เราทำขึ้นมาเพราะความกระสันอยากจะทำล้วนๆ” น้ำเล่าย้อนให้เราฟังถึงจุดเริ่มแฝงด้วยรอยยิ้มเมื่อนึกย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการทำหนังของเขา

       “เราเริ่มตั้งแต่ปี 1 เลย คือทำส่งประกวด เพราะจะไปรอทำตอนขึ้น ปี3 ก็กลัวว่ามันจะสายไป”

       “ทำกับเพื่อน เราก็เรียนรู้กันไป มีผิด มีถูก ผมว่าการทำหนังมันทำให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก หลังจากนั้นก็เรียนรู้จากความผิดพลาดในงานถัดๆไป ปิดข้อผิดพลาดเดิมๆ และเรียนรู้มาตลอดจนถึงทุกวันนี้”

บรรยากาศการถ่ายภาพยนตร์

       จากการทำหนังสนุกๆกับเพื่อนฝูง สู่โลกของการทำงานจริง สนามจริงที่ทุกอย่างต้องใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบมากที่สุด น้ำพบจุดเปลี่ยนในชีวิตเมื่อได้เริ่มไปฝึกงานในช่วงปี 3 กับกองถ่ายภาพยนตร์ใหญ่เรื่องหนึ่ง

       “จุดเปลี่ยนมันเริ่มจากตอนปี 3 อาจารย์ในคณะก็เห็นแวว เลยอยากให้เราทำผลงานให้กับน้องๆนักศึกษาใหม่ เป็นหนังปฐมนิเทศที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ เราก็ได้เริ่มทำจริงๆจังๆในระดับแรก ถึงจะไม่ใช่งานที่สมบูรณ์แบบ แต่ทุกคนก็เห็นถึงความตั้งใจของเรา หลังจากนั้นทุกคนก็จะรู้จักเราในฐานะคนที่ชอบทำหนัง”

       “หลังจากนั้นมีช่วงหนึ่งที่มีกองหนังของ หม่อมน้อย มาถ่ายหนังที่เชียงใหม่ คนรู้จักของผมคนหนึ่งก็แนะนำว่าทางกองถ่ายต้องการเด็กฝึกงาน นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้ไปอยู่ในกองหนังใหญ่ครั้งแรกในชีวิต ซึ่งได้เรียนรู้จริง ทำจริง เหนื่อยจริง เรารู้เลยว่าสิ่งที่เราเคยทำมามันยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งเลยของสนามจริง”

       ในโลกของความเป็นจริงซึ่งมีทั้งความกดดัน การแข่งขัน ย่อมต่างจากโลกในรั้ว น้ำได้เรียนรู้หลายอย่างจากการเป็นเด็กฝึกงานของกองถ่ายภาพยนตร์ และนั่นก็ทำให้ทัศนคติ และมุมมองของเขาในการทำงานเปลี่ยนไปตลอดกาล

       “คือของจริงเขาทำงานกันเป็นระบบมาก แล้วในการทำงานจริงมันมีวิธีคิดของมัน เหมือนเราได้ไปสัมผัสแก่นแท้ของการทำหนัง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้สัมผัสแค่เปลือกนอก จากที่เราเคยทำอย่างเดียว เราไม่รู้วิธีคิด จากการฝึกงานทำให้ผมได้รู้ว่าวิธีคิดเป็นอย่างไร สำคัญอย่างไร และควรพัฒนาวิธีการคิดให้มากขึ้น การคิดต้องมาก่อน เราคิดได้ เราถึงจะทำได้ ตรงนี้เลยเป็นแก่นแท้ที่เราได้เรียนรู้จากการทำหนัง”

       หลังสนามจริงแรก น้ำก็มีโอกาสได้ทำงานในสนามจริงอีกหลายสนาม เรียกว่าเป็นช่วงที่เหนื่อยและหนักในการเรียนรู้ของเขา

       “หลังจากเรียนจบก็มีโอกาสได้ไปทำงานกับกองหม่อมน้อยอีกเรื่องหนึ่ง คราวนี้คือผู้ช่วยหม่อมโทรมาหาบอกว่าอยากให้ไปทำงานด้วยเลย เราก็ดีใจมาก เรียนจบปุป ก็ต้องไปทำงานเลย ครั้งนี้คือเป็นครั้งแรกเลยที่มีโอกาสได้ทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์จริงๆ ในฐานะตำแหน่งหนึ่งในทีมงานจริงๆ ไม่ใช่แค่นักศึกษาฝึกงาน ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนจากจุดนี้ เหมือนต้องเปลี่ยนจากมือสมัครเล่นเป็นมืออาชีพ เราได้โอกาสตรงนี้ซึ่งเป็นประโยชน์กับเรามาก”

       “หลังจากนั้นก็กลับมาเชียงใหม่มาทำของเราบ้าง ช่วงนั้นก็รับทำงานเอ็มวีของศิลปินในเชียงใหม่เยอะมาก แล้วในช่วงเดียวกันก็มีค่ายหนังค่ายใหญ่หนึ่งในเชียงใหม่จะทำหนังใหญ่เรื่อง พี่ชาย เราก็มีโอกาสได้ไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้เขา แล้วก็ทำงานในวงการภาพยนตร์ที่เชียงใหม่เรื่อยมา จะมีบินไปกรุงเทพบ้างบางครั้ง”

       เมื่อสั่งสมประสบการณ์มาพอสมควร ก็ถึงเวลาที่น้ำจะเริ่มลงมืออย่างจริงจังในการทำหนังของเขา ซึ่งเขาเริ่มต้นจากโปรเจกต์เล็กๆ แต่โชคชะตาพลิกให้กลายเป็นหนังใหญ่ สิ่งที่เขาเคยเรียนรู้มาจึงต้องนำออกมาใช้ในงานชิ้นนี้ ซึ่งหลายอย่างเมื่อได้มาทำจริง ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้

       “จนมาถึงปี 57 ก็เป็นปีที่เราอยากเริ่มโปรเจกต์เล็กๆ เพราะรู้สึกว่าหลังเรียนจบ เราได้ไปช่วยคนโน้นคนนี้จนไม่มีเวลาทำงานของตัวเองเลย แล้วก็อยากรู้ว่าถ้าเราทำงานของตัวเองแบบวัดระดับสูงๆ เราจะทำออกมาได้ขนาดไหน ก็เลยเป็นโปรเจกต์เรื่อง รักสารภาพ อย่างที่ทราบกัน”

       “หลังจากนั้นมันกลายเป็นโปรเจกต์หนังใหญ่ อย่างที่เล่าไปตอนต้น ทีนี้พอมันกลายเป็นหนังใหญ่ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เราพบความกดดัน ความท้อ จนถึงจุดที่เรารู้สึกว่าเราควบคุมมันไม่อยู่ แล้วเราก็เครียด จนมาถึงจุดที่เราได้รู้ว่า ความเครียดไม่ทำให้เกิดผลงานที่ดี แต่เราต้องมีความสนุกสนาน ซึ่งมันก็จะผ่อนคลายทั้งทีมงาน นักแสดงด้วย หลังจากนั้นก็เปลี่ยนการทำงานเลย คือทำแบบสนุกสนาน แล้วทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยการที่เราต้องทำความเข้าใจกันมากในทีมงาน นักแสดง”

       จากจุดเริ่มต้นในมหาวิทยาลัยจนกระทั่งมาถึงจุดนี้ทำให้น้ำเติบโตขึ้นมากทั้งความคิด การกระทำ ซึ่งหลายอย่างในอดีตเป็นบทเรียนที่สอนให้เขาเข้าใจโลกของการทำหนังมากขึ้น


       “ผมเรียนรู้อะไรเยอะมาก พอเราได้มาทำงานจริงๆ เรารู้เลยว่าทุกอย่างมันเริ่มจากความคิด ความคิดเป็นเหมือนแก่น มีหลายคนถามว่า ทำหนังทำยังไง เราก็ไม่รู้จะตอบยังไงเพราะมันมีอะไรที่ต้องรู้มากในการทำหนัง เราก็บอกได้แค่ว่า ถ้าอยากรู้ว่าหนังทำยังไง ก็ต้องทำหนัง”

“และแน่นอนว่าในการทำหนังมันต้องเจอปัญหา อุปสรรคมากมาย ตรงนี้มันทำให้เราได้เรียนรู้ ได้ฝึกตัวเองในการแก้ปัญหา แล้วก็ทำหนังมันเป็นการทำกับคนหมู่มาก มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้คน ได้เห็นทุกคนเป็นครูที่สอนเราด้วย”

            เมื่อพูดถึงวงการหนังในเชียงใหม่ น้ำบอกกับเราว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีทุกอย่าง ที่วัตถุดิบ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะไปสู้ค่ายหนังในกรุงเทพได้

       “ในเชียงใหม่ก็มีค่ายหนังที่ตั้งใจนะ ตอนนี้ก็รู้สึกว่าเชียงใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้แล้ว คือทุกอย่างมันมีหมดแล้วที่นี่ แล้วถ้าจะทำหนังใหญ่สักเรื่องเชื่อว่าศักยภาพเราไม่ต่างจากของกรุงเทพเลย ถ้าจะทำจริงๆเรามีหลายสิ่งที่สามารถหยิบใช้ได้โดยไม่ต้องวิ่งไปทำกรุงเทพเลย และเชื่อแน่เลยว่าวงการภาพยนตร์ในเชียงใหม่จะพัฒนาไปได้อีกมากแน่นอน”

       ในการทำหนัง หากขาดแรงบันดาลใจหรือปรัชญาในการทำหนัง ก็ยากที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ทำหนังต่อไป ซึ่งน้ำมองว่าส่วนตัวของเขา ปรัชญาในการทำหนังคือการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น

       “เราอยากสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่ดูหนังเรา อยากจะให้คนได้มุมมองอะไรบางอย่างจากหนังเรา สมมุติเราทำหนังรัก ก็อยากให้คนได้มุมมองความรักจากหนังเรา ไม่ว่าจะเป็นแนวไหนก็ตาม เราอยากถ่ายทอดมุมมองนั้นๆจากหนังของเรา ให้คนดูได้เปิดมุมมอง เรียนรู้อะไรจากหนังเรา”

       “ก้าวต่อไปก็ตั้งใจจะทำหนังที่ใหญ่ขึ้น ท้าทายตัวเองมากขึ้นครับ”

       ในฐานะคนทำหนัง คงมีหนังเป็นร้อยเป็นพันที่ผ่านสายตา บทสนทนามากมายในหนังผ่านเข้าหู บางถ้อยคำก็เป็นคำที่ประทับใจและฝังอยู่ข้างในไม่เคยลืมเลือน และยังสามารถเป็นแรงบันดาลใจในการทำหนังได้ด้วย ส่วนตัวน้ำก็มีเช่นกัน

       “ผมชอบคำจากหนังเรื่อง Pursuit Of Happiness ที่ วิล สมิธ เล่น เป็นฉากที่พ่อกำลังผูกเนกไทให้กับลูก เพราะลูกผูกไม่เป็น พ่อก็เลยสอนลูกไปว่า “อย่ายอมให้ใครมาบอกว่าลูกทำอะไรไม่ได้ แม้แต่พ่อ ลูกมีความฝัน ลูกก็ต้องปกป้องมัน คนที่ทำอะไรไม่ได้มักจะคอยบอกเราว่า เราเองก็ทำไม่ได้ ลูกต้องการอะไร ก็ต้องไปคว้ามันมา แค่นั้น” ประทับใจมาก”

       สุดท้ายเราให้น้ำฝากถึงน้องใหม่ หรือใครที่สนใจจะก้าวเข้ามาสู่ในโลกของการทำหนัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าเราจะทำ สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจและอดทนที่จะเรียนรู้กับมันอยู่ตลอดเวลา

       “จริงๆคนที่ชอบทำหนังนี่เป็นคนมีกรรมนะ(หัวเราะ) เพราะต้องเจอแต่อุปสรรคมากมาย แต่เชื่อว่านี่เป็นอาชีพที่น่าทำที่สุดในโลก เพราะการทำหนังเป็นเหมือนการทำศิลปะกับสิ่งมีชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำกับสิ่งมีชีวิต เราก็ต้องเข้าใจสิ่งมีชีวิต เข้าใจจิตวิทยา เข้าใจธรรมชาติ ง่ายๆคือคุณต้องเข้าใจแก่นแท้ของชีวิต ถามว่าเหนื่อยมั้ยก็เหนื่อย แต่ถ้ามันเป็นเหนื่อยที่ทำให้เรามีความสุขมันก็คุ้ม”

       “จริงๆแล้วทำอะไรก็เหนื่อยหมด คุณเป็นพนักงานประจำคุณก็เหนื่อย คุณเป็นกรรมกรคุณก็เหนื่อย แต่ถามว่าคุณจะเลือกเหนื่อยกับสิ่งไหน ความเหนื่อยไหนที่ทำให้เรามีความสุข ไม่มีอะไรในโลกที่มันสบาย นี่แหละเราต้องหาชีวิตเราให้เจอ ตอบตัวเองให้ได้ว่าชีวิตนี้เราอยากจะยอมเหนื่อยกับอะไร”

       บทสนทนาผ่านมุมมองของคนที่เรียกตัวเองว่าผู้กำกับหนังเหมือนทำให้เราได้ฟังบทสนทนาของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งและเรียนรู้มัน ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนั้นก็คือชีวิตจริงของเขา ซึ่งมีจุดเริ่ม จุดปัญหา จุดไคลแม็กซ์ และจุดที่เรียกในภาษาภาพยนตร์ว่าจุดคลี่คลาย ชีวิตจริงของคนก็เป็นเช่นนั้น หากเราจะทำอะไรสักอย่าง ย่อมมีเรื่องราว มีการเดินทางของตัวมันเอง เหมือนหนังสักเรื่องหนึ่งที่เดินเรื่องและนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง

       การทำหนังสักเรื่องหนึ่งย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย หากแต่มันคืองานที่หนักหน่วง เพราะมันคือการทำงานกับคนหมู่มาก มีเพียงแค่ผู้ที่ทำหนังเท่านั้น จึงจะรู้ว่าเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าประสบการณ์จะคอยสอนเราเองว่าเราควรทำเช่นไร และไม่ว่าเราจะเลือกทางเดินชีวิตแบบไหน เราย่อมพบเจอเรื่องราวมากมายที่จะมีทั้งสุขและเศร้า ดีใจหรือเสียใจในทางของมัน คงไม่ต่างอะไรกับหนัง เพียงแต่เปลี่ยนเป็นหนังชีวิตจริงที่เราต้องคิด ออกแบบ เรียนรู้ พัฒนา และกำกับด้วยตัวเราเอง

ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง “รักสารภาพ” กำหนดฉาย กุมภาพันธ์ 2558

เรื่องราวชีวิตของ  Humans of  Chiang Mai คนต่อไปจะเป็นใคร ติดตามกันได้ที่นี่ และถ้าหากใครมีบุคคลแห่งแรงบันดาลใจที่อยากแนะนำ ก็อย่าลืมแวะมาเม้นท์มาแชร์ให้เราได้รู้ตามช่องคอมเม้นท์ด้านล่าง หรือ
  
เจ๋งจะได้ตามไปเจาะลึกกันอย่างทันท่วงที ราตรีสวัสดิ์ครับพี่น้องชาวเชียงใหม่

Relate Posts :