ตือคาโคช้างม่อย ยืนทอดความอร่อยกว่า 100 ปี

ตอนย้ายมาอยู่เชียงใหม่ใหม่ ๆ พี่ที่ทำงานถามว่า “น้องไปกินตือคาโคด้วยกันไหม” นิ่งไปสัก 30 วินาที แล้วก็ตอบไปว่า “อะไรนะคะ” แล้วก็เป็นคำถามที่ค้างในหัวตลอดเวลาว่าตือคาโคคืออะไร วันนี้เราจะไปหาคำตอบกันที่ร้าน ตือคาโคช้างม่อย สาขาสามกษัตริย์ แค่ชื่อฉันก็เริ่มมีข้อสงสัย และข้อเอะใจมากมาย ใครที่ยังไม่รู้จักว่าคืออะไร ยังไง คำตอบก็คือมันคือ ไอ้ต้าวความรักอันใหม่ ที่ต้องกินทุกวัน กินครั้งแรก ต้องมีครั้งสอง กินครั้งสองก็ต้องมีต่อไปเรื่อย ๆ หยุดไม่ได้จริง ๆ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปปปปปป 

หน้าร้านสาขาอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

ตือคาโค คืออะไร

ตือคาโคทอดร้อน ๆ

จากการพูดคุย ค้นคว้า รวมถึงการซื้อมากินหลังจากไปลองชิมครั้งแรกที่ร้านมาประมาณ 10 รอบได้ เราจะสรุปให้ฟังว่าตือคาโคก็คือ ขนมว่าง เอาไว้ทานเล่น เคี้ยวเล่น ส่วนใหญ่จะเป็นไส้เผือก ข้าวโพด หรืออื่น ๆ กินคู่กับน้ำจิ้มที่มีรสหวาน โดยคำว่าตือคาโค มาจาก 3 คำ รวมกัน นั้นก็คือ

  • ตือ แปลว่า หมู 
  • คา/คากิ แปลว่า ขา 
  • โค แปลว่า วงกลม

เจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า “ตือคาโค เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่าขาหมูที่มันทรงกลมๆ ทำไมถึงเรียกว่าขนมขาหมูก็เพราะว่าเวลาที่เราเอามาหั่น ๆเป็นแว่นมันจะเหมือนขาหมู คนจีนเขามองว่ามันเหมือนขาหมูเขาก็เลยตั้งชื่อว่าตือคาโค” พอได้ฟังถึงกับร้องอ่อกันเลยที่เดียวทีนี้ก็หายสงสัยแล้วค่ะ น้ำตาแทบไหลออกมา อันนี้ก็เวอร์ไปหน่อย แต่เอารวม ๆ ความหมายตามนั้นเลย 

ตั้งใส่พิมพ์ที่เป็นทรงกลม
ลงไปทอดในน้ำมันร้อน ๆ

ทำไมต้องตือคาโคช้างม่อย?

ด้านหน้า

ตือคาโคช้างม่อย ขายปีแรกปี พ.ศ. 2460 -ปัจจุบัน รวม ๆ กันแล้วก็ขายมา 104 ปี โอ้ววว เริ่มตั้งแต่รุ่นอาม่า ปีแรกที่เริ่มขายปี 2460 ตอนแรกขายที่ตรอกเหล่าโจ๊ว อยู่ข้างๆ ตลาดวโรส ขายมาทั้งหมดรุ่นปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว เรียกได้ว่ายืนหนึ่งเรื่องความอร่อย ถ้าไม่ดีจริงคงไม่ขายดิบขาดี ลูกค้ามีทุก Generation ทั้งลูกค้าเก่า ลูกค้าใหม่ แวะเวียนมากันไม่ขาดสาย เข้าไปอ่านที่มาของร้านเต็ม ๆ คลิก!


ชิ้นกลม ๆ

ทำไมถึงตั้งชื่อว่าตือคาโคช้างม่อย? 

“ตอนแรกยังไม่มีชื่อ ลูกค้าเขาก็ตั้งชื่อให้กันเยอะแยะเลย คือเรียกกันเอาเอง ตือคาโคเตาถ่าน ตือคาโคศรีพิงค์ ตือคาโคช้างม่อย ตือคาโคสองพี่น้อง คนท้องถิ่นเขาก็เรียกกันตามนี้ทั่วไป จนเราคิดว่ามันน่าจะมีชื่อจริง ๆ บ้าง ชื่อแรกที่ตั้งคือตือ ตือคาโคศรีพิงค์” ลูกค้าบ้างคนก็ไม่รู้ว่าศรีพิงค์คือที่ไหน เราก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น “ตือคาโคช้างม่อย” ทำให้คนรู้จักเข้าใจง่ายๆ”

โต๊ะนั่งด้านหน้า
สวยคลาสสิค

ไอเดียการตกแต่งร้าน

“ไอเดียในการตกแต่งร้านเป็นเพราะเทรนด์ ด้วยความที่มันมีความเป็นจีน คือเราก็อินมาประมาณนึงแล้วแหละตั้งแต่เราเริ่มทำร้านมา เราคิดว่าตือคาโคมันมีคุณค่าหลายอย่าง ที่มันยังไม่แสดงออกมาจากตัวสินค้าเราก็เลยบอกว่าเออมันก็เป็นของจีน อาม่าเราก็เป็นคนจีนมันก็เลยได้รับอิทธิพลมาหลายอย่าง เราก็เป็นคนจีนเราก็เลยอยากทำร้านให้มันจีนเพราะชื่อมันก็คือตือคาโคก็เป็นภาษจีน ตอนที่ทำร้านแรก ๆ เนี่ยยังไม่ได้เอาโต๊ะออกไปตั้งข้างนอก ก็คือไม่มีอะไรนะ ตอนแรกก็ไม่ได้อะไรมากมาย เพราะมันเป็นของทานเล่นคนมาซื้อแล้วก็ไป แต่เราคิดว่าน่าจะมีที่นั่งให้ลูกค้าบ้าง เลยหา reference จากฮ่องกงบ้าง จีนบ้างที่เขาทำ เราก็ทำมั่ว ๆ นะไม่ได้มีหลักการอะไร เราก็จับอันโน้นบ้าง จับอันนี้บ้าง แล้วก็ออกมาอย่างที่เห็นเลย”

ส่วนตัวเราเองชอบการตกแต่งของที่ร้านมาก ๆ มันเหมือนจะมีความใหม่อยู่ แต่พอมองอีกทีมันมีความเก่า ๆ คลาสสิคอยู่ เป็นดีเทลเล็ก ๆ น้อย ๆ ถึงเจ้าของร้านจะไม่พูดถึง แต่เราเห็นความใส่ใจในการเลือกใช้สี ใช้เฟอร์นิเจอร์ ดูแล้วมันเข้ากันดี


ความอร่อยกว่า 100 ปี

น่ากิน

เมนูของทางร้านที่เป็นตือคาโคมีทั้งหมด ให้เลือก 3 อย่างด้วยกัน


  • ตือคาโคข้าวโพด
  • ตือโคโคเผือก
  • เต้าหู้ทอด

ซึ่งราคากับคุณภาพสวนทางกันอย่างชัดเจน ราคานั้นแสนถูก ยิ่งซื้อเยอะยิ่งถูก เมื่อเทียบกับความอร่อยที่ได้รับมา อร่อยแบบอร่อย อร่อยแบบที่ต้องซื้อซ้ำ อร่อยแบบไผถวิลหา! จริง ๆ นะ

  • 4 ชิ้น 20 บาท
  • 6 ชิ้น 30 บาท
  • 8 ชิ้น 40 บาท
  • 10 ชิ้น 50 บาท
  • 12 ชิ้น 60 บาท

ตือคาโคที่ดีต้องกินตอนที่ยังร้อน ๆ อยู่ ทางร้านพยายามที่จะทอดใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าทุกคน แล้วถ้าเราซื้อไปนาน ๆ มันเย็นละ จะยังอร่อยอยู่ไหม? อร่อยเหมือนเดิมเลยแม่ แค่มันไม่ร้อนเฉย ๆ เพราะตอนทอดทางร้านก็คุมอุณหภูมิก็เลยทำให้กรอบนานกว่าที่อื่น ๆ “ลูกค้าบางคนก็กินเป็นอาหารจานหลักเลยนะ คือเป็นมื้อเช้า มื้อเที่ยง มื้อเย็น เขาเลยสั่งทีก็เป็นร้อย กิน 2 คนบางทีก็เลยกินคนเดียว แล้วถ้าคนชอบก็คือชอบจริงๆ”

เผือก
เต้าหู้
ข้าวโพด
กินคู่กับน้ำจิ้ม
น้ำจิ้ม

เคล็ดลับความอร่อย

อีกหนึ่งเคล็ดลับความอร่อยที่ถ่ายทอดมากว่า 4 รุ่น คือน้ำจิ้มที่กินคู่กับตือคาโค เป็นการทำให้ตือคาโคดูมีอะไรมากกว่าที่เป็น “น้ำจิ้มสูตรลับพิเศษของทางร้าน” รสชาติจะมีความหวาน เผ็ดนิด ๆ เราก็แอบถามเคล็ดลับความอร่อยจากการทำน้ำจิ้มสูตรของทางร้านได้คำตอบมาว่า “บอกไม่ได้จริง ๆ ครับ” แต่เจ้าของร้านก็บอกว่า “หลัก ๆ จะมาจากความหวาน ที่ไม่ใช่แค่น้ำตาล แต่มีตัวเพิ่มความหวานอื่น ๆ ด้วย ความเผ็ดก็มาจากพริกหลายอย่าง ไม่ใช่แค่อย่างเดียว แล้วก็เพิ่มความมันด้วยถั่วลิสง” เอาเป็นว่าซื้อกินง่ายกว่า อิอิ

หืมมมมม
ถั่วลิสงจัดเต็ม

สิ่งที่ต้องไม่พลาด!

เมนูของหวาน

อีกอย่างหนึ่งที่มาที่ร้านแล้วต้องห้ามพลาด ! นั้นก็คือ ของหวานและเครื่องดื่ม เครื่องดื่มก็จะมีให้เลือกทั้งหมด 4 อย่างด้วยกัน มีชาดำเย็น ชานมเย็น โอเลี้ยง กาแฟโบราณ กินหวาน ๆ ให้ชื่นใจ! และที่สำคัญทางร้านก็มีน้ำชาฟรี! ไม่อั้น ย้ำว่าฟรี! พลาดไม่ได้เด็ดขาดกับลูกตาลลอยแก้ว! กินแล้วล่องลอย หวานแบบละมุน ไม่หวานจนแสบคอ! พลาดไม่ได้นะ

ลูกตาลลอยแก้ว
ชาดำเย็น กับ ชานมเย็น
น้ำชา

หลังจากที่หายสงสัยแล้วว่าตือคาโคคืออะไร! ก็สั่งเดลิเวอร์รี่มากินทุกวัน กลายเป็นตือคาโค Lover กินครั้งแรก ต้องมีครั้งสองความอร่อยที่ถ่ายทอดกันมา การตกแต่งร้านทำให้มีร้านดูมีอะไรมากขึ้น นอกจากที่สาขาสามกษัตริย์แล้ว ก็อย่าลืมไปทานที่สาขาช้างม่อยกันนะ ที่นั้นยังใช้เป็นเตาถ่านอยู่เลยคลาสสิคแบบสุด ๆ ใครมีร้านอะไรดี ๆ ดูมีเรื่องราวแบบนี้ส่งมาให้เรารู้กันด้วยนะ เชื่อว่าที่เชียงใหม่ยังมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกเยอะเลย และที่สำคัญอย่าลืมอ่านบทความที่น่าสนใจอื่น ๆ ของรีวิวเชียงใหม่กันด้วย

Relate Posts :