ไปปางมะผ้า ไปนั่งห้อยขาที่บ้านจ่าโบ่

ระหว่างทางจากปายไปเมืองแม่ฮ่องสอน หลายคนคงเพลิดเพลินกับถนนสาย 1095 ที่ทอดยาวไปจนถึงเมืองแม่ฮ่องสอน

โดยเฉพาะกลุ่มนักปั่นจักรยาน ไม่ว่าสายแข่งหรือสายท่องเที่ยว นักปั่นสายทัวร์ริ่งจึงนิยมปั่นจักรยานรอนแรม ผ่านจุดพักต่างๆ และปางมะผ้าคือจุดพักครึ่งทาง

2
เส้นทางทอดยาวในเมืองสามหมอก

หลายคนคงเคยไปยืนสัมผัสอากาศแบบเย็นยะเยือก หน้าชา ปากสั่น ที่จุดชมวิวดอยกิ่วลมกันแล้ว ซึ่งอยู่ห่างจาก อ.ปายราวๆ 25 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในสถานที่ยืนตากอากาศและชมวิวทิวทัศน์รวมถึงเป็นจุดพักรถในเขตอำเภอปางมะผ้า ซึ่งมีบริการ ร้านกาแฟและร้านค้าของคนในพื้นที่ ป้อมตำรวจคอยอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัย รวมถึงสุขาให้ผ่อนคลาย

3
วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนแม่ฮ่องสอน

จากจุดชมวิวดอยกิ่วลมถัดไปประมาณ 20 กม ก็จะถึงเขตชุมชนปางมะผ้าเป็นอำเภอการค้าขายพืชผลทางเกษตร  เราจะเห็นผู้คนส่วนมากสวมชุดชนเผ่าลีซอ รวมถึงคนพื้นเมืองไทยใหญ่ คนที่นี่มีหลายชนเผ่าชาติพันธุ์ ต่างวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ทุกๆวันอังคาร ที่นี่จะดูคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะมีรถคาราวานตลาดนัดนำสินค้ามาขาย รวมทั้งพืชผลเกษตรกรรมของคนในพื้นที่ให้ชาวบ้านในละแวกมาจับจ่ายใช้สอย

4
ความหนาวเย็นไม่อาจพรากไออุ่นในอกแม่ไปจากเด็กน้อยได้

อาหารที่นี่ก็มีหน้าตาไม่ต่างจากที่ปาย เพียงแต่ทางนี้จะมีรสชาติที่เป็นสูตรต้นตำรับกว่า เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นคนในท้องที่มากกว่านักท่องเที่ยว อย่างเช่นถั่วพลูอุ่น หรือแม้แต่วัตถุดิบในการปรุงอาหารอย่างถั่วเน่าก็มีขายในตลาด

5
ธรรมชาติยังคอยแต้มสีสันให้ “จ่าโบ่” ตรึงใจผู้มาเยือน

ที่นี่มีจุดท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญหลายที่ อย่างเช่นถ้ำลอด , ถ้ำแม่ละนา , ถ้ำน้ำบ่อผี หรือการไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวลาหู่  (มูเซอ) ที่บ้านจ่าโบ่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวชุมชนปางมะผ้าไปราวๆ 15 กม. ตัดเข้าถนนหมายเลย 1226

การเดินทางจากปางมะผ้าไปบ้านจ่าโบ่  หากไม่ใช้รถส่วนตัวหรือโบกรถ สามารถเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตกลงราคากับคนขับได้


6
หลับตา ฟังเสียงร้องเพลงของสรรพสัตว์ที่บรรเลงโดยธรรมชาติ

คุณศรชัย ประธานชุมชน CBT ( Community Base Tourism ) ของบ้านจ่าโบ่ บอกว่าชนเผ่าลาหู่มีชื่อแยกจำแนกหลายชื่อ การแต่งกายของชุดก็แตกต่างกันไปที่นี่ นักท่องเที่ยวส่วนมากจะรู้จักในชื่อจุดชมวิวบ้านจ่าโบ่ ที่มีร้านขายก๊วยเตี๋ยว เรียกกันว่า ก๊วยเตี๋ยวห้อยขา  เพราะอากาศที่เหน็บหนาวของฤดู ใครผ่านมาก็ต้องกินก๊วยเตี๋ยวร้อนๆ นั่งห้อยขา ชมวิวทิวทัศน์อย่างเพลินตา เพราะนอกจากนักท่องเที่ยวแล้ว คนในพื้นที่ก็มานั่งห้อยขา แต่อีกสิ่งหนึ่งที่คุณศรชัยอยากบอก นอกจากการมาชมวิว กินก๊วยเตี๋ยวแล้วกลับไป ก็ยังอยากให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสวิถีความเป็นอยู่ของชาวลาหู่ เราอยากให้คนภายนอกเห็นสิ่งที่เราเป็น เราเคยตกเป็นจำเลยสังคมในเรื่องการเผาป่าทำไร่เลื่อนลอย เราไม่ได้ตัดไม้ เผาป่าพร่ำเพรื่อ แต่เราทำไร่หมุนเวียน เราดูแลและรักษาผืนดินที่มีอยู่ เพราะมันคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตพวกเรา

7
จุดชมวิวบ้านจ่าโบ่คงยังสะกดสายตานักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือน

ที่นี่มีที่พักแบบโฮมสเตย์ที่ได้รับการอนุมัติจำนวน 12หลัง จะมีการประเมินทุก2ปี พวกเราอยู่กันแบบครอบครัว แบบเครือญาติ นักท่องเที่ยวที่ผ่านมาและอยากซึมซับวิถีความเป็นอยู่รวมทั้งวิธีการดำรงชีวิตในแต่ละวันของชาวลาหู่ การพักโฮมสเตย์ ผมว่าเป็นวิธีเลือกที่เหมาะสมที่สุด ยกเว้นเสียว่าบางคนติดเรื่องความสะดวกสบายก็บังคับใจกันไม่ได้

8
ป้ายสีน้ำเงินถูกเขียนด้วยตัวหนังสือสีขาวเพื่อกล่าวกับนักเดินทาง ถึงดินแดนที่อยู่เบื้องหน้า

กิจกรรมท่องเที่ยวที่ชุมชนจัด ก็จะเป็นการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมชนเผ่า นักท่องเที่ยวควรมีเวลาอย่างน้อย 3วัน เดินทางมาถึงวันแรกก็พักผ่อน เช้าวันที่สองเข้าไปเดินป่า ไปถ้ำผีแมน ชมไร่หมุนเวียน ไร่สมุนไพร โดยมีผู้นำทางที่ชำนาญเส้นทาง ส่วนวันที่สามก็จะมีกิจกรรมร่วมกัน มีพิธีกรรมตามความเชื่อในแต่ฤดูกาลเช่น ช่วงปีใหม่ก็จะมีการรดน้ำดำหัว อีกทั้งพิธีกรรมอื่นๆอย่างรับขวัญข้าว ในตอนกลางคืนก็จะมีการเต้นจะคึ คือการเต้นกระทืบเท้าให้พื้นดินสะเทือน โดยจะมีอุปมาอุปมัยในพิธีกรรมนั้นๆ ทั้งการรับขวัญข้าวและหลังข้าวออกรวงแล้ว

9
เมฆสีขาวนวลลอยเคลียทิวเขาสลับซับซ้อน ณ จุดชมวิวลูกข้าวหลาม

มีการทำอาหารแลกเปลี่ยน เรียนรู้ รูปแบบต่างวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างผู้มาเยือนและเจ้าบ้าน รวมถึงชาวต่างชาติที่มาเป็นอาสาสมัครก็ได้เรียนรู้การทำอาหารแบบชาวลาหู่ อาหารหลักของที่นี่จะเป็นน้ำพริกแบบลาหู่และกับข้าวจะมี 3 อย่างขึ้นไป

10
เพิงไม้ถูกประกอบขึ้นอย่างง่ายตั้งเรียงริมทางเพื่อขายของให้กับนักท่องเที่ยว

คนต่างชาติชาวเยอรมันที่เคยมาที่นี่ ถามลูกชายว่า “ลูกเห็นอะไรบ้างที่นี่?”

ลูกชายตอบ “เห็นความจน” พ่อจึงถามต่อ “แล้วลูกเห็นความสุขไหม?”


การอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ มีผัก มีอาหาร ตามฤดูกาล มีพื้นที่ มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีบ้านให้พักพิง มีความเกื้อหนุนช่วยเหลือกันในชนเผ่า นี่คือวิถีของชาวลาหู่ที่ดำรงสืบต่อกันมา

ถามว่าความสุขหาได้ที่ไหน? หรือแม้แต่ความลำบากที่เกิดขึ้น ต่างก็มีวิธีการในการปรับตัว ลาหู่ หรือ มูเซอ ภาษาพม่าแปลว่า นายพราน ฉะนั้นเรื่องความชำนาญในการดำรงชีวิตตามป่าตามดอยจึงไม่ใช่เรื่องสาหัสอะไรและยินดีให้คนภายนอกเข้ามาสัมผัสเรียนรู้

11
ตลาดยังคงโอบอุ้มชีวิตและวิถีที่ไม่มีวันเลือนหายไป

ช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวอย่างฤดูฝนนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะเข้าไร่ เข้าสวน ปลูกข้าว, ข้าวโพด, แตง, ผัก โดยใช้วิธีแลกแรงงานกัน ไม่มีค่าจ้าง มีแต่อาหารเลี้ยงเป็นค่าตอบแทน

ส่วนอาชีพหลักของคนที่นี่ก็จะมีเครื่องมือจักรสานประจำเผ่า , จักรสานจากไม้ไผ่, หรือแม้แต่เครื่องดนตรีอย่าง “แคน” ที่เรารู้จักกันในนามถิ่นอีสานเมืองแคน แต่แคนทางนี้จะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน

mhs2
ชาวลีซอเอาพืชผลเกษตรกรรมมาวางขายที่ตลาดปางมะผ้าทุกๆ วันอังคาร

ผ่านมาปางมะผ้า อย่าลืมแวะมาห้อยขา เต้นจะคึ ฟังเสียงแคน กินน้ำพริกลาหู่ ที่บ้านจ่าโบ่นะ

Relate Posts :