[การเลี้ยงลูก] เมื่อวันที่เรายกทีวีออกจากบ้าน

ลูกชายไม่มีอะไรทำ ก็ถูบ้านไปลูก เอาให้สะอาดเลยนะ

– ความเดิม บ้านเราไม่มีทีวี กรุณาอ่าน “เด็กกับทีวี” และ  “5 ปีที่ไม่ดูทีวี มีผลกระทบอะไรบ้าง” ตอนนั้นเขียนเมื่อสักสามปีมาแล้ว หลังจากนั้นปีนึงผมก็ไปซื้อทีวีมาไว้ที่บ้าน ต้องบอกก่อนว่าซื้อแต่ทีวีจริงๆ ไม่ซื้อกล่องดิจิตอล ไม่ซื้อจานดาวเทียม ไม่ซื้อเสาอากาศใดๆทั้งสิ้น ทีวีเครื่องนี้แม่เมียผมถามว่ามีไว้ทำไม ดูอะไรก็ไม่ได้ไม่เหมือนชาวบ้านเขา (แม่เมียผมชอบดูทีวี อาจเป็นสาเหตุที่แกไม่ค่อยมาบ้านเราบ่อยนัก เพราะไม่มีอะไรให้ดู)

– แนวความคิดเกี่ยวกับทีวี ความเชื่อผมยังเหมือนเดิมคือ ทีวีไม่เหมาะสำหรับเด็ก โดยเฉพาะ “รายการทีวี” ทั้งหลายรวมถึงโฆษณาต่างๆด้วย ตัวทีวีเองไม่มีอะไรเสียหาย เนื้อหาที่ออกมาจากมันต่างหากที่เราควบคุมไม่ได้ ลองนั่งดูรายการทีวีเวลาไปกินข้าวข้างนอก ก็ไม่เห็นว่ามันจะมีอะไร กี่ปีมาแล้วก็ยังเหมือนเดิม น้ำเน่าโดยเฉพาะทีวีไทย

– ซื้อทีวีครั้งแรก แต่ที่ผมซื้อทีวีในเวลานั้น เพราะผมคิดว่าลูกเราก็โตพอสมควร (5 ขวบกับ 7 ขวบ) ได้ดูการ์ตูน (ที่คัดแล้ว) บ้างก็น่าจะโอเค ส่วนนึงอาจเป็นเพราะเราผัวเมียเริ่มเหนื่อยและอยากต้องการเวลามากขึ้น อย่างน้อยสักชั่วโมงครึ่งให้ลูกอยู่นิ่งๆ บ้าง คิดทบทวนแล้วว่าควบคุมได้ เลยไปถอยมาทันทีหนึ่งเครื่อง ทุกวันนี้ยังไม่รู้เลยว่ามันมีขนาดกี่นิ้วกันแน่ 32, 40, 48 ยอมรับว่าเรื่องทีวีเราโง่มาก

– เริ่มดูทีวี กำหนดวันดู หนึ่งอาทิตย์ดูได้สองวันคือเย็นวันศุกร์และเสาร์ ครั้งละ 1.30 ชม. คือประมาณหนังการ์ตูนหนึ่งเรื่อง เด็กๆดูจะตื่นเต้นมากกับของเล่นชิ้นใหม่ เริ่มมีการรบเร้าให้โหลดหนังนั่นนี่มาใส่เครื่องไว้


– เอาทีวีไว้บนห้องนอน เป็นความคิดที่ผิดมากความคิดนึงเลยทีเดียว เดิมคิดว่านอนๆ ดูไปสักพักเดี๋ยวเด็กก็จะหลับไปเอง ความจริงแล้วไม่ใช่ เด็กยิ่งได้ดูการ์ตูนก็จะยิ่งตื่นเต้น ร้อนรน ไม่ยอมหลับยอมนอน แตกต่างจากการเล่านิทานอย่างสิ้นเชิง อันหลังนี้เด็กจะนิ่งฟังหน้าตาครุ่นคิดใช้จินตนาการ และเข้านอนอย่างสงบเตรียมตัวฝันดี ซึ่งอันนี้ทีวีให้ไม่ได้เลย

– ย้ายบ้าน แน่นอนเราก็ย้ายทีวีมาบ้านใหม่ด้วย คราวนี้ตั้งไว้แถวๆที่กินข้าวใกล้ห้องครัว

– เสาร์ อาทิตย์ วันหยุดปิดเทอมกับทีวี วันที่เด็กๆไปโรงเรียนไม่มีปัญหา ยกเว้นศุกร์ เสาร์ที่เด็กรบเร้าขอจองแย่งกันดูเรื่องนั้นเรื่องนี้ บางครั้งก็พูดแต่เรื่องทีวี การ์ตูนนั่นนี่ ทำเสียงแปลกๆตามอย่างในทีวี ปัญหาใหญ่มาเกิดตอนปิดเทอม โรงเรียนปิดสองเดือนครึ่ง แน่นอนว่าเด็กๆ ไม่มีอะไรทำ พ่อแม่ก็ต้องทำงานยุ่งทั้งวัน เด็กก็มากวนเพื่อจะได้ให้เราเปิดทีวีให้ หลายๆ ครั้งก็ต้องยอมไปเปิดเพื่อตัดรำคาญเพราะต้องการสมาธิ หลังๆ มาทบทวนดูเฮ้ย นี่มันไม่ใช่ละ นี่มันดูทีวีกันทุกวันเลย วันละหลายชั่วโมง (ส่วนมากดูการ์ตูนที่โหลดมาไว้ กับดูรายการทางยูทูปเช่น ทีวีแชมป์เปี้ยน หรือสารคดีสัตว์ต่างๆ ทุกรายการเป็นภาษาอังกฤษยกเว้นทีวีแชมป์เปี้ยนเป็นภาษาไทย บางครั้งภาษาญี่ปุ่น)

– บอกลาทีวี หลังจากคิดทบทวนแล้วว่า “แม้จะให้ดูทีวีน้อยมากแล้ว ก็ยังมีแต่ผลเสียอยู่ดีถ้าเด็กยังไม่พร้อม” ดังนั้นตัดออกไปเลยดีกว่า ถึงยังไงตัวเราเองก็ไม่ดูอยู่แล้ว เอาไว้ในบ้านมีแต่จะทำให้มองเห็นและทำให้เกิดปัญหา ประจวบพอดีได้ย้ายออฟฟิศไปอยู่อีกที่นึงแยกจากตัวบ้าน ก็เลยถือโอกาสเอาทีวีเครื่องดังกล่าวไปไว้ในห้องประชุม เอาไว้ต่อขึ้นจอเวลาประชุมกันเหมือนจอสไลด์ แบบนั้นยังจะได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งลองแล้วก็เป็นประโยชน์มากกว่าจริงๆ


– สรุปผลกระทบของทีวี ยังหาข้อดีไม่เจอ หลายคนอาจบอกว่าเพื่อดูข่าว ถามว่าดูข่าวแล้วชีวิตเราดีขึ้นมั้ย ในทีวีมีแต่ข่าวร้ายๆ เราควรจะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยข้อมูลข่าวสารพวกนั้นหรือ บางคนอาจบอกว่า เอาไว้ดูว่าโลกเขาไปถึงไหนแล้ว ผมขอเถียงว่านั่นมันโลกในทีวี เป็นโลกที่พวกโปรดิวเซอร์/ผู้กำกับ คนที่ฉลาดสุดๆทั้งหลายเขาตั้งใจทำมาให้คุณดู คุณคิดว่าคุณดูแล้วฉลาดขึ้น แต่ความจริงแล้วคุณเป็นเหยื่อ เป็นทาสการตลาดเพราะดูโฆษณาทุกวันตลอดเวลา เราถึงอยากได้อยากซื้อของนั่นนี่อยู่ตลอด เพราะนักการตลาดกระตุ้นบอกให้เราบริโภคอยู่ตลอดทุกเมื่อเชื่อวัน

สำหรับเด็กยิ่งแล้วใหญ่ เด็กที่ดูทีวีค่อนข้างจะก้าวร้าว เอาแต่ใจ คล้ายจะมีจินตนาการแต่ไม่ใช่ มันคือการเพ้อฝันตามอย่างการ์ตูนที่ดูมา มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงเพราะการดูทีวีไม่ต้องเคลื่อนไหวใดๆ สายตาเสียเร็วกว่าปกติ สมองฝ่อเพราะไม่ค่อยได้คิด สรุป ถ้าสงสารลูก สงสารเด็ก รักเด็กอย่างจริงใจ เอาทีวีออกไปจากบ้านเถอะครับ


  • ขอบคุณข้อมูลจากบล็อก www.itong2go.com
  • เกี่ยวกับ @itong2go: เฮียโก บล็อกเกอร์พ่อลูกสาม บ้านอยู่เชียงใหม่ อาชีพทำเว็บไซต์ ชอบดูหนัง ชอบท่องเที่ยว
  • Twitter: @itong2go
  • Facebook: Govit Thatarat
  • Instagram: @itong2go

ปล. กลับมาแถมให้อีกนิดว่า หลังจากที่ยกทีวีออกจากบ้าน ลูกเราก็ไม่ได้เศร้าใจฟูมฟายอะไร มีแต่เราที่คิดไปเองกลัวลูกจะเสียใจ เด็กๆ กลับพูดคุยปรึกษากันว่า หลังจากนี้ไปเราจะเล่นอะไรกันดี ไม่ได้คุยกันว่าเราจะไปดูทีวีที่ไหนกัน!

Relate Posts :