รู้ไว้ใช่ว่า 5 ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณียี่เป็งของชาวล้านนา
ประเพณีลอยกระทงหรือที่ชาวล้านนาเรียกกันว่าประเพณียี่เป็ง เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดปฏิบัติกันมาช้านาน ว่ากันว่าได้รับอิทธิพลมาจากพิธีพิธีตามประทีปหรือทีปาวลีของอินเดีย เพื่อเป็นการบูชาพระพรหม พระอิศวร และพระนารายณ์ ซึ่งพอเมืองเราไทยรับเอาคติความเชื่อดังกล่าวนี้มาปรับกับวิถีชีวิตท้องถิ่นที่เป็นเมืองกสิกรรม เลยกลายเป็นการลอยกระทงเพื่อขอขมาพระแม่คงคา เนื่องจากการเกษตรต้องอาศัยน้ำเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการเพาะปลูก แต่ถึงอย่างนั้นประเพณียี่เป็งของชาวล้านนาก็มีความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่ทำให้เทศกาลลอยกระทงของที่นี่ต่างจากภูมิภาคอื่นๆ 1. ประตูป่า ถ้าใครมาเที่ยวเชียงใหม่ช่วงก่อนเทศกาลลอยกระทงสักประมาณ 1-2 วัน จะเห็นหน้าบ้าน วัด บริษัท หรือบางสถานที่ มีซุ้มประตูที่ทำจากต้นกล้วยหรือต้นอ้อย ประดับด้วยโคมไฟพื้นเมืองหรือโคมยี่เป็ง อาทิ โคมรังมดส้ม โคมไห โคมกระจัง โคมดาว โคมกระบอก โคมเงี้ยว โคมแอว โคมญี่ปุ่น และดอกไม้ไทย เช่น ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก นั่นคือประตูป่า ซึ่งตามความเชื่อของคนล้านนา ประตูป่าคือเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง เนื่องจากชาวล้านนาส่วนใหญ่นิยมฟังมหาเวสสันดรชาดก และว่ากันว่าหากใครฟังครบ 13 กัณฑ์ จะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและบ้านเมือง หากตัดเรื่องความเชื่อดังกล่าวแล้ว ประตูป่าเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการร่วมแรงร่วมใจของคนในบ้าน ในบริษัท หรือในชุมชน ที่มาช่วยกันทำและประดับตกแต่งซุ้มประตูให้สวยงาม ในบางพื้นที่มีการประกวดประตูป่าด้วย 2. ผางประทีป นอกจากลอยกระทงแล้ว กิจกรรมที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับชาวล้านนาในคืนยี่เป็ง นั่นคือการจุดผางประทีป คำว่า ผาง […]
