ข้าว ผ้า ยา บ้าน และขนมปังธัญพืชแห่งบ้านดิน สู่ผืนดิน

ระยะทางราวๆ20กม จากตัวเมืองเชียงใหม่ วิ่งตรงบนถนนสาย 118 เชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ตัดเข้าทางหลวงชนบท 3012 ผ่านพิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง ทางซ้ายมือเป็นทุ่งนาโล่ง จะเห็นบ้านดินตั้งเรียงราย 4-5หลัง

The back to earth chiangmai

“ข้าว ผ้า ยา บ้าน” คือปัจจัยหลักในการดำรงและสร้างรายได้หมุนเวียนแบบพอตัว พอกิน และมีใช้  ด้วยผลิตภัณฑ์ทางเกษตร ยาสมุนไพร ผ้าฝ้ายเย็บมือ ที่คนในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก โดยมีน้องข้าวกล้อง ลูกสาวคนโตที่เพิ่งเรียนจบและเตรียมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในสายที่สามารถนำมาใช้พัฒนาอาชีพในครอบครัว มาช่วยจัดการ แบ่งเบาภาระ เขียนป้ายผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายระหว่างนั่งพูดคุยในมุมครัวนอกบ้าน โดยมีน้องข้าวกล้องนั่งร่วมด้วย กลิ่นหอมของกาแฟเวียดนาม รสชาติหวานละมุนนุ่มเข้ากับขนมปังโฮลวีส เนื้อแน่นปริมาณแป้งน้อย ผสมนานาธัญพืชจากสวนในบ้าน

 

DSC_0210

ข้าว ผ้า ยา บ้าน 4อย่างนี้ทำขึ้นเองทั้งหมด?

ครับ ปลูกข้าวอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิ ข้าวพันธุ์ธัญสิริน ในพื้นที่ประมาณ 1ไร่กว่า แต่ปีนี้ไม่ได้ทำ เพราะน้ำไม่มี ก็เลยเอาปอเทืองมาลง เป็นพืชคลุมดินตระกูลถั่ว ปลูกข้าวเอาไว้ทาน และพอแจกจ่าย

ผลผลิตข้าวต่อปี?

ประมานตันครึ่งครับ ปลูกแบบไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียว และสีเอง มีครกสีข้าว

DSC_0191(1)

ข้าวที่เหลือนอกจากแจกแล้ว?

เอาไปขายบ้าง เป็นผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องอินทรีย์บ้านดินสู่ผืนดิน

เริ่มต้นคือพี่ต้องการทำกิน ทำใช้เอง?

ทำกิน ทำใช้ และบางส่วนเอาไปขาย อย่างผลิตภันฑ์ผ้าฝ้ายเย็บมือสู่ผืนดินนี้ ได้ออกแบบให้ผู้ประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวอร์ส ปี 2547 เป็นผ้าฝ้ายสีธรรมชาติ เย็บด้วยเข็มเล่มเดียว ก็มีกลุ่มคนเฒ่า คนแก่มาช่วย เมื่อก่อนเขารับจ้างเย็บฟูกสะลี(ภาษาเหนือ)แปลว่าฟูกที่นอน พอถึงยุคที่ผลิตด้วยโรงงานหมด คนที่เย็บสะลีก็ตกงานก็เลยให้เขามาเย็บผ้าเป็นงาน Hand Made เป็นรายได้ในชุมชน จนเข้าประกวด Otop

DSC_0356(1)


คราวนี้มาผลิตภัณฑ์ยา?

เมื่อก่อนผมอยู่กรุงเทพ เคยเป็นพ่อค้าที่ปากคลองตลาด ขายดอกไม้ อยู่3-4ปี ได้มาหลายโรค เพราะมลพิษมันเยอะ ป่วยหลายอย่าง หากฝืนอยู่ต่อคงไม่หาย ตายแน่ ผมก็กลับมาเรียนแพทย์แผนไทยที่เชียงใหม่ คือก่อนจะกลับมาผมได้ไปช่วยมูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน อยู่พักหนึ่ง ทำเกี่ยวกับเกษตร ธรรมชาติ ธรรมะ ก็ได้ไปคุยกับปราชญ์ชาวบ้านทั่วประเทศ อัดเสียงมา ถ่ายทอดผ่านดาวเทียมที่ ม.เกษตร แฟนผมอยู่ ม.แม่โจ้ ผมเลยมาทดลองทฤษฏีการพึ่งตัวเองที่นี่ โดยเริ่มจากไม่มีอะไรเลย ประมาณ ปี พศ 2540

DSC_0342(1)

ช่วง พศ. 2540 ในเชียงใหม่นี้ มีกลุ่มยึดหลักวิถีการพึ่งพาตนเอง?

ก็มีอยู่ มีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ทีนี้ พอป่วยด้วย และก็สนใจการดูแลฟื้นฟู ตัวเองในแนวของการปรับสมดุล  และพอได้ไปสัมผัสกับปราชญ์ชาวบ้านในหลายๆที่ ก็ค่อยซึมซับแนวคิด ว่าพูดอย่างเดียวนี้ไม่ได้แล้ว ต้องลงมือทำ เลยได้มาทดลองทฤษฏีก็ผลิตสมุนไพรมาใช้เอง ระหว่างที่เรียนแพทย์แผนไทย ผมก็ทำเครือข่ายหมอพื้นบ้าน เราก็รวมตัวกัน ช่วยเขียนโครงการ ซิป (CIPP) ได้เงินสนับสนุนจาก World Bank ผมก็รวบรวมหมอพื้นบ้านมาพัฒนาศักยภาพ ขอเครื่องมืออุปกรณ์ เพราะเราโดนโจมตีเรื่องความไม่สะอาดและทันสมัย
ยาสมุนไพรที่ทำ ทางเหนือเขาเรียกว่ายาถ่ายขาง เป็นชื่อดั้งเดิม ความหมายของขางคือ ต้นเหตุของโรคทุกอย่าง การกิน การอยู่ที่ไม่สมดุล จึงทำให้ขางเกิดขึ้นในร่างกายสมมุติว่าเราทานอาหารไม่ถูกต้อง การย่อยและระบบต่างๆก็จะมีปัญหาหมด เสียความสมดุล สุดท้ายมันจะเกิดขาง หรือของเสีย เช่นในตำราว่า ขางติดตับ เรียกว่า ไขมันพอกตับ / ขางในเลือด-คอเลสเตอรอล / ขางเกิ้ม-ไขมันพอกในลำไส้ และขางทีทุกคนเคยเป็นเรียกว่าแผลร้อนใน มันเกิดจากการไม่สมดุลของธาตุร้อน-เย็นข้างในตอนนี้ทำโรงผลิตเล็กๆที่ได้มาตรฐานกระทรวง กำลังยื่นขอ อย.
(และได้ผ่านการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในชื่อใหม่ว่า ยาระบายตรา ร้านสู่ผืนดิน)
ผ้า ข้าว ยาที่ทำใช้ ทำกิน  ทำขาย ค่อยๆบอกต่อไม่ได้โฆษณาส่วนบ้านดิน นี่ผมไม่รับจ้างสร้าง แต่สอนฟรี เป็นงานรณรงค์แลกเปลี่ยนเผยแพร่

DSC_0247

DSC_0327

บ้านนี้พี่เริ่มทำเพื่ออยู่อาศัยเอง?

คือเมื่อก่อนเห็นคนในชุมชน ชนบทในหมู่บ้านผม ในสมัย40-50ปีที่แล้ว ไม่มีใครในหมู่บ้านมีหนี้สินเพราะการสร้างบ้าน แต่มาวันนี้ บางคนบ่นเป็นหนี้30-40ปีเพื่อจะมีบ้านอยู่ สมมุติคนอายุ40หาตังค์มาครึ่งชีวิต เงินครึ่งชีวิตที่หามาสร้างบ้านนี่ไม่พอนะ ต้องไปกู้เงินมาสมทบและสร้างบ้านหลังหนึ่ง ผมก็เลยไปศึกษา เพราะในความคิดวิธีเดิมๆยังเห็นอยู่ว่าเขาช่วยกันทำ มีวัสดุอะไรในหมู่บ้านก็ช่วยกันทำ ผมก็เลยมาศึกษาเรื่องบ้านดิน พอดีในตอนนั้นกระแสเรื่องบ้านดินมาพอดี จริงๆบ้านดินก็มีมาก่อนแล้ว ผมไปเข้าค่ายเรียนทำบ้านดินมาเกือบ20ปี  เอาเด็กไปทำกิจกรรม ไปสร้างกุฏิให้พระ
จนเมื่อประมาณ7-8ปีก่อน เราจำเป็นต้องอยู่ ทำแล้วต้องอยู่จริงๆ ต้องคอยดูแลซ่อมแซม หลังๆมีคนมาพักบ้าง มีแขกปั่นจักรยานผ่านมา กินข้าว มีกลุ่มมาใช้สถานที่จัดคอร์สล้างพิษ ปรับสมดุล มีคนผ่านมา สอบถามรับจ้างสร้างบ้านดินไหม? ผมก็ไม่ได้รับ ถ้าคุณมาเรียน ผมก็จะสอนให้

DSC_0307

DSC_0251


กิจกรรมของที่นี่?

ก่อนหน้านี้ผมเป็นประธานโฮมสเตย์ชุมชน ตอนนี้ลาออกแล้ว มีกลุ่มเยาวชนที่สามารถต้อนรับแขกได้ ทั้งในการแสดง ดนตรี การฟ้อน และมีกลุ่มผู้สูงอายุที่ทำอาหารเลี้ยงแขกมาพัก เลี้ยงแบบขันโตก บางครั้งก็มาจัดที่นี่ บางครั้งก็จัดในหมู่บ้าน ส่วนกิจกรรมหลักๆที่นี่ก็จะมีกลุ่มจักรยาน ส่วนมากมาจากทางยุโรปมาพัก มาทำอาหาร เอาพืช ผักที่มีอยู่บริเวณบ้านมาปรุงอาหาร ห่อใบตองเป็นเสบียงก่อนเดินทาง กิจกรรมที่นี่แล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้น อย่างเช่นมีกลุ่มพระ กลุ่มทำคอรส์สุขภาพ

DSC_0265

DSC_0255

ข้าว ผ้า ยา บ้านแล้วคราวนี้อยากให้น้องข้าวกล้องเล่าเรื่องขนมปัง

คือแม่หนูทำขนมปัง ตอนนั้นยังไม่มีเครื่องนวดและเตาอบ ใช้นวดมือเอา ก่อนที่จะทำขาย แรกๆทำกินเองก่อน ช่วงที่พ่อไม่สบายก็กินอะไรไม่ค่อยได้เยอะ แม่ก็เลยทำขนมปังให้ หนูได้ไปกาดเจเจกับพ่อ พ่อบอกให้ลองเอาขนมปังไปตั้งขายทุกวันเสาร์

DSC_0348

มีขนมปังอะไรบ้าง?

เป็นขนมปังโฮลวีทผสมธัญพืช ทั้งงาขาว งาดำ ลำไยอบแห้ง เม็ดทานตะวัน เป็นแนวสุขภาพค่ะ ตอนนี้ก็ปรับสูตรไปเรื่อยๆ ตอนนี้เริ่มลองทำขนมปังชาโคล

DSC_0179(1)

ขนมปังหมดก้อน กาแฟหมดแก้ว ผมเดินเล่นรอบบ้าน ลมพัดเย็น ร่มรื่น ฟังเสียงนกร้อง เป็นบรรยากาศที่เงียบ สงบ และดูสมถะ เป็นบรรยากาศที่หลายๆคนอาจแสวงหา แต่ใช่ว่าทุกคนที่จะพบเจอ ด้วยสภาวะและความรับผิดชอบต่างๆนาๆ หลายคนทิ้งหลายอย่างไว้ข้างหลัง เริ่มต้นที่ศูนย์ เดินออกจากชีวิตเดิมๆในเมืองมุ่งสู่ชีวิตชนบท ยึดหลัก ศึกษา วิถีพอเพียง แบบพึ่งพาตนเอง.
DSC_0176

สัมภาษณ์พี่ อดุลย์ ศรีสวัสดิ์
เมื่อวันที่ 23 พค 59
สถานที่ บ้านดินสู่ผืนดิน ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย

เรื่องน่าสนใจ

Relate Posts :