4 แจ่งเมืองเชียงใหม่ รู้เอาไว้ก็ดี

ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่า “แจ่ง” แปลว่า มุม มุมที่เป็นกำแพงเมืองเชียงใหม่ 4 แจ่ง ซึ่งถือเป็นป้อมปราการของเมืองในอดีต โดยมีความเป็นมาดังนี้ และที่ต้องไปแถวนั้นก็กะว่าจะพาไปรู้จัก “แจ่ง” แต่ล่ะแห่งว่ามีความเป็นมาอย่างไร

แจ่งก๊ะต้ำ หรือแจ่งขะต้ำ เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพวกช้าง เป็นมุมเมืองที่อยู่ต่ำสุดซึ่งเป็นบริเวณที่มีปลาชุกชุมมาก ผู้คนมักมาดักปลาโดยใช้ขะต้ำซึ่งเป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง อันเป็นที่มาของการเรียกชื่อแจ่ง


แจ่งกู่เฮือง เป็นแจ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ตรงกันข้ามโรงพยาบาลสวนปรุง ที่มาของชื่อเนื่องจากเป็นที่เก็บอัฐิของอ้ายเฮือง ที่เป็นผู้คุมของพญาคำฟู ซึ่งถูกนำมาคุมขังที่นี่ภายหลังถูกจับกุมเนื่องจากก่อนหน้าได้ชิงราชสมบัติจากพญาแสนภู ซึ่งพญาไชยสงคราม พระบรมเชษฐาของพญาแสนภูปกครองเชียงรายอยู่รับสั่งให้มาปราบ

แจ่งหัวลิน เป็นแจ่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม เป็นมุมเมืองที่เป็นต้นร่องน้ำที่มาจากห้วยแก้วบนดอยสุเทพ ซึ่งเป็นน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงตัวเมืองเชียงใหม่มาแต่โบราณ


แจ่งศรีภูมิ เดิมชื่อแจ่งสะหลีภูมิ เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดชัยศรีภูมิหรือวัดพันตาเกิ๋น เป็นแจ่งที่เป็นศรีแห่งเมือง เมื่อพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.1839 โดยโปรดฯ ให้ขุดคูก่อกำแพงเมืองทางด้านนี้ก่อน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างกำแพงเมือง แล้วจึงวนไปทางทิศใต้ เวียนไปทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ จนมาบรรจบที่แจ่งศรีภูมิ

ในเมื่อรู้ที่ว่าที่ไปกันแล้ว ที่นี้ขับรถรอบคูเมืองครั้งไหนก็จำกันให้ดี แก่เฒ่าชราภาพไปจะได้เล่าให้ลูกหลานฟังได้

“หัวใจพี่คอยน้องอยู่ที่แก่ง ตรงที่มีแร้งเฝ้าคอย..เฝ้าคอย”

ขอสลับไปเป็น  “หัวใจพี่คอยน้องอยู่ที่แจ่ง ตรงที่มีแร้งเฝ้าคอย..เฝ้าคอย”

ที่ต้องเปลี่ยนไปเป็นแจ่งเพราะ ตอนนี้ผมกำลังไปนอนก่ายหน้าผากรอทุกท่านอยู่ที่นั่นครับ

Relate Posts :