วันที่ 17 พ.ค. 2555
เวลา 13.30 น. ทำบุญเข้าอินทขิล โดยมีนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวอัญเชิญพระพุทธรูปฝนแสนห่า ออกจากวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เลี้ยวซ้ายไปตาม
ถนนพระปกเกล้า ผ่านบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ เลี้ยวขวาสู่ถนนราชวิถี เข้าสู่ถนนช้างม่อย ถนนช้างม่อยตัดใหม่ ถนนท่าแพ ถนนราชดำเนิน
ถึงสี่แยกกลางเวียง แล้วเลี้ยวเข้าสู่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
เวลา 16.00 น. เป็นพิธีเปิดงานประเพณีใส่ขันดอกบูชาอินทขิล โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ทำพิธีเปิดโดยลั่นฆ้อง จุดธูปเทียนบูชาและสรงน้ำพระพุทธรูป
ฝนแสนห่า พร้อมทั้งร่วมใส่ขันดอกบูชาอินทขิล จำนวน 32 ขัน
เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์สมโภชเสาอินทขีล
เวลา 19.00 น. ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา สมโภชเสาอินทขิล
วันที่ 18 – 23 พ.ค. 2555
เวลา 08.00 น. ศรัทธาสาธุชนทำบุญใส่ขันดอกตลอด เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์สมโภชเสาอินทขิล
วันที่ 19 พ.ค. 2555
เวลา 13.00 น. พิธีมหาพุทธาภิเษกพระกริ่งอินทขิลหลักเมืองมหามงคลเชียงใหม่
วันที่ 24 พ.ค. 2555 เวลา 09.30 น. พิธีทำบุญออกอินทขิล นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่จุดธูป เทียน บูชาพระรัตนตรัย เจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 108 รูป
ขอแถมท้ายด้วยประวัติความเป็นมาของพิธีบูชาเสาอินทขิลนะคะ
คำว่า “อินทขิล” แปลว่า หลักเมือง ประวัติของเสาอินทขิลคล่าวๆ คือ พื้นที่เมืองเชียงใหม่ในอดีต เป็นที่อยู่อาศัยของพวกลัวะ ซึ่งได้สร้างเมืองที่มีชื่อว่า “เมืองนพบุรี” ชาวลัวะเป็นผู้อยู่ในศีล ในธรรม พระอินทร์จึงบันดาลให้มีบ่อแก้ว บ่อเงิน บ่อทอง เกิดขึ้นในเมือง ชาวเมืองไม่ต้องทำมาหากิน แค่เอาแก้ว เงิน ทอง ในบ่อไปขาย ก็ใช้ชีวิตกันได้อย่างสุขสบาย เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไป ก็มีเมืองต่างๆ อยากจะยึดเมืองนพบุรีเป็นของตน พระอินทร์จึงใช้ให้กุมภัณฑ์ 2 ตน นำเสาอินทขิลใส่สาแหลกลากลงมาฝังไว้ที่เมืองนพบุรี เสาอินทขิลมีฤทธิ์ทำให้ข้าศึกกลายเป็นพ่อค้า เมื่อพ่อค้าเหล่านั้นเข้ามาในเมืองและมาขอแก้ว เงิน ทอง จากชาวบ้าน ชาวบ้านก็บอกให้พ่อค้าเหล่านั้นตั้งจิตอธิฐานแล้วจะได้สิ่งที่ต้องการ แต่ต้องอยู่ในศีลธรรม ผู้ที่อยู่ในศีลธรรมก็จะได้อย่างที่อธิฐาน แต่ก็มีผู้ที่ไม่อยู่ในศีล ในธรรม และไม่บูชากุมภัณฑ์ 2 ตนที่เฝ้าเสา กุมภัณฑ์จึงยกเสากลับสวรรค์ไป ต่อมามีคำทำนายว่าบ้านเมืองจะเกิดภัยภิบัติ ชาวเืมืองต่างหวาดกลัว เรื่องนี้ทราบถึงพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้ชาวเมืองสร้างเสาอินทขิลจำลองขึ้นและให้ทำพิธีสักการะบูชาให้เหมือนเสาอินทขิลของจริงที่อยู่บนสวรรค์ บ้านเมืองจึงจะพ้นจากภัยพิบัติ เมื่อชาวเมืองกระทำตาม บ้านเมืองก็สงบและเจริญรุ่งเรืองสืบมา
สมัยเมื่อ 200 – 300 ปีก่อน เสาอินทขิลอยู่ที่วัดสะดือเมือง จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ย้ายมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหารจนกระทั่งปัจจุบัน การบูชาเสาอินทขิลจะจัดขึ้นในช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเป็นประจำทุกปี โดยชาวบ้านจะยึดเอาการเข้าอินทขิลในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 8 เหนือ และ ออกอินทขิลในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 9 เหนือ หรือ เรียกว่า เดือน 8 เข้า เดือน 9 ออก ชาวเชียงใหม่เชื่อว่า เมื่อสักการะบูชาเสาอินทขิลแล้ว บ้านเมืองจะพ้นภัยพิบัติและมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้น จึงเป็นประเพณีสักการะบูชามาจนถึงทุกวันนี้
ในตอนกลางคืนจะมีพิธีใส่ขันดอก โดยทำหลังจากการจุดธูปเทียน บูชาอินทขิล ทางวัดได้เตรียมพานเรียงไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนนำดอกไม้ไปวางในพาน หรือ ขัน จนครบเหมือนกับการใส่บาตรดอกไม้ ซึ่งหมายถึงการแสดงความเคารพบูชาแก่เสาอินทขิล และ กุมภัณฑ์ฤาษี และพระรัตนตรัย ทางวัดยังได้เตรียมบาตร 7 ลูก ไว้หน้าพระพุทธรูปประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน มีการอัญเชิญพระเจ้าฝนแสนห่า คือ พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดช่างแต้มใกล้ๆ กับวัดเจดีย์หลวง มาประดิษฐานไว้ตรงวงเวียนหน้าพระวิหารตลอดงาน เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำพระพุทธรูปองค์นี้อย่างทั่วถึง ซึ่งชาวเชียงใหม่ เชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธานุภาพสามารถบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ส่วนบนวิหารก็ยังมีการใส่บาตรเหรียญสลึงในบาตรพระ 108 บาตรอีกด้วย