เรื่องเล่าจากอนาล็อคสู่ดิจิตอล

พิกัด : ห้องภาพ “ฟิล์มนิยม” (เลขที่ 102)
113/28 หมู่ 10 ซอยจันทร์หอม (อุโมงค์ 16) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร : 086 326 5803
Link : https://www.facebook.com/ฟิล์มนิยม

ย้อนกลับไปหลายสิบปี ก่อนที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพอันทันสมัย จะเดินทางมาถึง หลายอย่างถูกพัฒนาปรับเปลี่ยน ตั้งแต่การคมนาคม ยนตรกรรม เครื่องมือสื่อสาร แมทเสท แพคลิงค์ สากเบือยันเรือรบ หลายๆสิ่ง ถูกย่อส่วนบรรจุในกระเป๋าโดราเอม่อน ที่สามารถหยิบใช้เมื่อต้องการ วันเวลาเคลื่อนผ่านปีแล้วปีเล่า เราอาจเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ ปรากฏการณ์การเดินทางของยุคสมัย มนุษย์เริ่มที่จะเรียนรู้ ปรับเปลี่ยน รูปแบบชีวิต เพื่อให้ยืนอยู่ได้ในยุคสมัยปัจจุบัน

B
ฟิล์มนิยม สำหรับคนที่นิยมฟิล์ม

หากว่าเราเกิดทันในช่วงปี 1970 ถือเป็นช่วงที่ยุคสมัยสับเปลี่ยนจากอนาล็อกเป็นดิจิตอลเต็มรูปแบบ ในตอนนั้นคงไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นพยานบอกเล่าเรื่องราวในช่วงยุคนั้นได้ดีเท่ากับภาพถ่ายหนึ่งภาพ และของใช้บางส่วนที่ถูกเก็บเข้าตู้เป็นของสะสม จำนวนช่างภาพในยุคนั้น อาจมีไม่มากเท่าปัจจุบัน  ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี ได้ผลิตช่างภาพรุ่นใหม่ออกมามากมาย โดยมีอุปกรณ์คุณภาพสูงที่มากความสามารถดั่งเทพมาการันตีในเชิงเทคนิค เติมแต่งความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยห้องมืดที่บรรจุอยู่ในโปรแกรม ควบคุมการทำงานด้วยปลายนิ้ว ช่างภาพสามารถทำงานได้ทุกที่ ส่งภาพออนไลน์ได้ทั่วโลกผ่านสัญญาณ Wifi ทั้งหมดคือวิวัฒนาการของงานถ่ายภาพ

E
กล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพภายในร้าน ทั้งที่ใช้งาน ปลดระวางและสะสม

คุณบอย หรือ FotoYokee ช่างภาพหนุ่มวัย 39 ปี เจ้าของร้านฟิล์มนิยม ตั้งอยู่ในซอยวัดอุโมงค์  มีฟิล์มจำหน่ายให้กับกลุ่มคนที่ยังคงนิยมถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม รวมทั้งนักศึกษาที่สนใจการถ่ายภาพ ด้วยอาชีพเป็นผู้อยู่เบื่องหลังวงการฟิล์มและภาพยนตร์มานานหลายปี  ก่อนหน้านั้นย้อนกลับไปวัยเด็ก เด็กชายบอยเคยมีความฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน พอเข้าสู่วัยหนุ่มอยากจะท่องเที่ยว ไม่ได้มีความฝันอยากจะเป็นช่างภาพ


-อะไรเป็นตัวจุดประกายให้เข้าเรียนสาขาถ่ายภาพ?

ส่วนตัวเป็นคนชอบวาดรูป ฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน ไม่เคยฝันอยากเป็นช่างภาพ ตอนเด็กๆชอบวาดรูปส่งประกวด ตอนนั้นยังถ่ายรูปไม่เป็นเลย แต่พ่อมีกล้องถ่ายรูปอยู่ตัวหนึ่งยี่ห้อ Yashica Electro  เราจะเห็นรูปครอบครัวตอนไปเที่ยวจากกล้องตัวนี้ จนเรียนจบ ปวช ก็ตั้งใจไปสอบเข้าเรียนที่เพาะช่าง แต่สอบไม่ติด จึงกลับมาเรียนต่อ ปวส. ที่ไทวิจิตศิลป์
ช่วงปีสาม มาเริ่มสนุกกับการถ่ายรูป ความสนุกของการถ่ายรูปคือการได้ออกไปเทียวและถ่ายภาพ ไม่มีทักษะอะไรมากเกี่ยวกับการถ่ายภาพ คิดแค่ว่ามันเป็นอุปกรณ์ที่พาเราไปเทียว เป็นเหตุผลบอกกับแม่ว่า “ไปถ่ายรูปกับเพื่อน” กล้องตัวแรกที่พ่อซื้อให้คือ Pentax K-1000 หลังจากนั้นจึงตัดสินใจกับไปสอบเข้าเพาะช่างอีกรอบในคณะออกแบบ แผนกศิลปะการถ่ายภาพ เพราะเบื่อที่จะนั่งวาดรูปอย่างเดียว โดยเข้าใจว่าถ้าเราไปเรียนถ่ายรูปเนี่ย จะได้ไปเที่ยว

C
กล้องหลายตัวที่ผ่านมือคุณบอย
G
ทำงานอยู่เบื้องหลังกองถ่าย จึงมีความหลงไหลในกล้องถ่ายภาพยนตร์

-ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก?


อยากไปเที่ยว เราคิดว่ามาเรียนถ่ายภาพ จะไม่ต้องวาดรูป เราจะถ่ายรูปอย่างเดียว ปรากฏว่าที่นี่เรียนถ่ายภาพแค่ 20% นอกนั้นเรียน Drawing ตอนนั้นเราก็ปฏิเสธในใจ อุตส่าห์จะหนีจากการวาดรูป แต่พอเราเรียนจบแล้วทำงาน จึงรู้ว่ากระบวนการที่เราเรียนเรื่องศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแสงและเงา องค์ประกอบศิลป์ มันได้เอามาใช้หมดเลยในงานถ่ายภาพ ทฤษฎีการถ่ายภาพมันเป็นมารตฐาน แต่การนำเสนอภาพออกไป มันเป็นงานศิลปะ

A
ของใช้ อุปกรณ์หลายอย่าง รวมทั้งภาพถ่ายภายในร้าน ก็ทำให้เรามองเห็นภาพในยุคหนึ่งได้เป็นอย่างดี
I
ความงามระหว่างฟิล์มกับดิจิตอล เป็นความงามต่างมุมมอง คุณค่าของภาพถ่ายคือเรื่องราวที่บันทึกไว้

-เบื่อไหมตอนเรียนถ่ายภาพ?
เรียน ปวช. มา 3 ปี มีพื้นฐานตรงนั้นอยู่แล้ว ก็เรียนไปไม่เบื่อ แต่ถ้าคนที่ไม่คุ้นเคยก็อาจเบื่อ ถ้าชอบก็ไม่มีปัญหา ความสนุกมันอยู่ตรงที่มันจะมีเรื่องของกิจกรรม มีถ่ายรูปนอกสถานที่ เป็นกิจกรรมของชมรมถ่ายภาพในแผนก จริงๆ เรื่องของการถ่ายภาพ ศิลปะนี่สำคัญมาก มันสอนเรื่องมุมมองและวิธีคิด เพียงแต่เราเอามุมมองและวิธีคิดมาใช้กับอุปกรณ์ถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสังเกตุแสงและเงา การจัดองค์ประกอบ เรื่องของสมาธิ ไม่น่าเชื่อนะ ที่หลายคนถ่ายรูปโดยที่ไม่มีพื้นฐานทางศิลปะ ซึ่งก็ไม่ผิด คือการถ่ายภาพเนี่ย มันจะจบที่ภาพถ่าย แต่ที่มาหรือกระบวนการต่างๆ ทางความคิด และการนำเสนอของการถ่ายภาพนั้น อาจเรียกว่าเป็นความงามที่มองต่างกัน ฉะนั้น การถ่ายภาพจึงมีวิธีคิดและมุมมองที่แตกต่างกัน

-อุปสรรคของการเรียนถ่ายภาพในยุคนั้น?
ตอนที่เรียนประมาณปี พ.ศ 2539 สำหรับผมไม่ได้มองเป็นอุปสรรคนะ แต่มันจะเป็นเรื่องของภาระเช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้อฟิล์ม ล้าง-อัด  ส่งงานอาจารย์ คือทุกอย่างมันเป็นแบบอนาล็อกหมด  มันมีกระบวนการกว่าจะเป็นรูปรูปหนึ่ง บางทีถ่ายมาม้วนหนึ่ง อาจได้รูปที่ดีไม่เกินสามรูป แต่รูปที่ไม่ดีในจำนวน 36 รูปนั้น ฟิล์มทุกม้วนมันจะสอนเรา เช่น ม้วนนี้เราถ่ายอันเดอร์ไป เพราะเราวัดแสงผิด คราวหน้าเราต้องใส่ใจเรื่องวัดแสงมากขึ้น หรือบางม้วนถ่ายมาภาพเอาท์โฟกัสหรือองค์ประกอบภาพไม่สวย คราวหน้าเราต้องใส่ใจเรื่ององค์ประกอบภาพ ดูเรื่องแสงและเงา ดูเรื่องโฟกัสให้ดึ ซึ่งกว่าเราจะรู้ในแต่ละม้วน ก็ต้องรอตอนเอาฟิล์มไปล้าง รอตอนแม่ส่งเงินมา แต่ถ้าเป็นยุคนี้ สามารถเห็นภาพหลังกล้อง ในมุมเรื่องความสะดวกสบาย ผมว่าดีมาก แต่ด้วยความง่าย มันก็ทำลายคุณค่าบางอย่างของการถ่ายภาพ เช่นคนในยุคนี้ ถ่ายปุ๊ป อยากจะได้รูปทันที ไม่มีการรอ แต่คนสมัยก่อนจะมีเรื่องราวระหว่างทางก่อนที่จะเห็นรูป มีการลุ้นว่ารูปจะเสียรึเปล่า

D
แสงและเงาเป็นสิ่งสำคัญของการถ่ายภาพ

-พื้นฐานที่ดีของการเป็นช่างภาพมืออาชีพ?
ความรับผิดชอบในงาน ผมเชื่อว่าทุกคนในวันนี้มีกล้องแล้วสามารถเป็นช่างภาพได้ แต่ถ้าคุณจะเป็นช่างภาพอาชีพ คุณต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่มีแค่กล้อง เพราะเรื่องฝีมือมันพัฒนากันได้ ยิ่งในยุคนี้เทคโนโลยีมันเสริมให้งานถ่ายภาพไปได้ไกลมาก

-คิดว่าอะไรยากที่สุดสำหรับการถ่ายภาพ?
มีน้องคนหนึ่ง อยากใช้กล้องฟิล์ม ก็มาถามว่ารุ่นนี้ดีไหม? รุ่นนั้นดีไหม?  ก็ถามกลับไปว่ารู้จักพื้นฐานการถ่ายภาพแค่ไหน น้องก็ตอบไม่รู้ ผมก็แนะนำไปว่างั้นไปหาหนังสืออ่าน เพราะถ้าได้กล้องมาแล้ว แต่ไม่สามารถใช้กล้องได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ กล้องฟิล์มมันไม่ได้หลับตาแล้วกดเป็นรูปได้ มันมีกระบวนการเช่นสภาพแสงเท่านี้ควรใช้ F-stop เท่าไร Shutter เท่าไร ใช้ฟิล์มแบบไหน ISO เท่าไร  ในยุคดิจิตัลดูเหมือนคนจะลืมเรื่องทักษะนั้นไป และที่สำคัญคือเรื่องมุมมองทางศิลปะ ในยุคดิจิตอล คนเชื่อว่าต้องถ่ายเยอะๆ ไม่เปลืองฟิล์ม ถ่ายทิ้ง ถ่ายขว้าง แต่ถ้าเป็นฟิล์มในแต่ละรูปมันมีคุณค่า ถ้าเสียหนึ่งรูปคือเสียเลย ฟิล์ม 1 ม้วน มันจึงมีคุณค่ามากกว่าไฟล์ดิจิตอลเป็นพันๆ รูป

H
ห้องมืดในยุคดิจิตอล

ในฐานะที่เคยเป็นช่างภาพในยุคอนาล็อกมาก่อน อยากให้เล่าถึงช่วงที่ยุคสมัยสับเปลี่ยน ตอนนั้นรู้สึกยังไง?


ประมาณปี พศ 2543-2544 เป็นช่วงที่ผมทำงานอยู่ในกองถ่าย ใช้กล้องฟิล์มมาตลอด คือทำไปจนคนที่จะจ้างเขาไม่อยากจ้างแล้ว เพราะเขาไปจ้างคนที่ใช้ดิจิตอล จะช่วยลดต้นทุนหลายอย่างเหมือนเป็นทางตันของการทำงานของเรา

กล้องดิจิตอลก็เริ่มผลิตเข้ามาหลายรุ่น ผมเลยจำเป็นที่จะต้องขายกล้องฟิล์มทิ้ง เพื่อจะซื้อกล้องดิจิตอลมาใช้ กล้องฟิล์มตัวสุดท้ายของตัวเองเลยคือ Leica R5 กับ R-E

F
กล่องฟิล์มสีเขียว สีส้ม สีน้ำเงิน สีเหลืองเป็นสีหลักของฟิล์มยี่ห้องต่างๆ ที่หลายคนคงคุ้นเคย

-คล้ายว่าเราต้องกลับมาเรียนใหม่ในยุคของดิจิตอล?
(หัวเราะ) อันดับแรกเลย ผมต้องหาคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คมาใช้
ตอนที่ซื้อกล้องดิจิตอลมา เป็น Canon 30D  ได้การ์ดที่แถมมา 2GB แล้วผมต้องตั้งไฟล์๋ JPEGเล็กสุด เวลาไปถ่ายงาน สมมุติไปออกกองสามวัน ก็ต้องถ่ายให้อยู่ในจำนวน 2GB นี้นะเว้ย.

-ฝากอะไรถึงคนที่มีความฝันอยากจะเป็นช่างภาพบ้าง?

คือผมไม่ได้มองที่อุปกรณ์นะ อุปกรณ์มันเป็นเรื่องของความชอบ เป็นรสนิยมของแต่ละคน ถูกหรือแพง คุณค่ามันอยู่ที่ภาพถ่าย และเรื่องราวที่ถูกนำเสนอมากกว่า ถ้าอยากเป็นช่างภาพ เราต้องหาแรงบันดาลใจ ทุกคนเป็นช่างภาพได้ แต่ความแตกต่างมันเป็นเรื่องของมุมมอง ฉนั้นกว่าจะถึงจุดที่เป็นช่างภาพ ต้องมีความพยายาม หมั่นถ่ายรูปบ่อยๆ อาจารย์เขาจะสอนเรื่องทักษะให้เรา แต่การถ่ายภาพ มันจะสอนตัวเรา ให้เราเห็นความผิดพลาดในภาพถ่ายนั้น.

ภาพถ่ายหนึ่งภาพ บอกเล่าเรื่องราวและความทรงจำของช่วงเวลาหนึ่ง คุณค่าและสุนทรียภาพของภาพถ่ายนั้นๆ ไม่ว่าจะถูกเก็บไว้ในฟิล์มหรือไฟล์ดิจิตอล ทุกครั้งที่หยิบขึ้นมาดู มันก็ทำให้เราอิ่มสุข อิ่มใจ แม้เรื่องราวความทรงจำเหล่านั้นจะผ่านมานานหลายปี แต่ยังคงรู้สึกว่าเหมือนเพิ่งจะผ่านมาเมื่อวันวาน.

[wpgmza id=”54″]

Relate Posts :