จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมรับฟังผลการศึกษาโครงการพัฒนาเชียงใหม่สู่เครือข่ายเมืองวัฒนธร

          จังหวัดเชียงใหม่จัดประชุมรับฟังผลการศึกษาโครงการพัฒนาเชียงใหม่สู่เครือข่ายเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ระดับโลก ซึ่งมอบหมายให้วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี อาจารย์ ดร.ภักดีกุล รัตนา เป็นหัวหน้าโครงการฯ โดยทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

          นายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานการประชุมรับรับฟังผลการศึกษารวบรวมและจัดทำข้อมูลเมืองเชียงใหม่เพื่อสมัครเข้ารับการประเมินเป็นเครือข่ายสมาชิกเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของ UNESCO สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบหมายให้วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่ง UNESCO ได้กำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่สนับสนุนแนวคิดเมืองสร้างสรรค์ซึ่งได้กำหนดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ออกเป็น 7 กลุ่ม ในแต่ละด้านตามศักยภาพและวัฒนธรรมท้องถิ่นของเมือง ซึ่งแต่ละเมืองจะสามารถเสนอได้เพียงด้านเดียวจากทั้ง 7 กลุ่ม โดยให้เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเสนอตัวเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ด้านการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกันซึ่งเครือข่ายสร้างสรรค์ที่รับรองโดยยูเนสโกที่ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2554 มีทั้งสิ้น 29 เมืองทั่วโลก ประกอบด้วย เมืองสร้างสรรค์ด้านวรรณกรรม เมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ เมืองสร้างสรรค์ด้านสื่อศิลปะ และเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร


          ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้เสนอตัวสมัครเป็นเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยมีหลักเกณฑ์คือ เป็นเมืองที่ต้องขับเคลื่อนสภาพแวดล้อมในเมืองและภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมโดยรวมอย่างสร้างสรรค์ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และชุมชน การจัดสรรพื้นที่ของเมืองเพื่อเป็นเวทีแสดงความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน เป็นเมืองที่มีประสบการณ์การเป็นเจ้าภาพจัดงานและจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ การมีส่วนร่วมของภาคการศึกษาเพื่อสนับสนุนการเป็นเมืองสร้างสรรค์ เช่น การเรียน การสอน การวิจัย เป็นเมืองที่ให้ความสำคัญแก่วัสดุท้องถิ่น และสภาพแวดล้อมในเมืองหรือธรรมชาติ และสุดท้ายหน่วยงานภาคราชการของเมืองต้องกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบาย รวมถึงจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการเป็นเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งวิทยาลัยศิลปะ สื่อ ฯ ได้ดำเนินการตามกระบวนการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค แล้วมีข้อเสนอแนะให้จังหวัดเชียงใหม่ควรจัดทำแผนการดำเนินงาน (Road Map) ในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2556 – 2560) ดังนี้คือ สำรวจข้อมูล วิเคราะห์ จัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็น วางแผนแม่บท ส่งเสริมและสร้างนักคิดนักออกแบบ ผู้ประกอบการหัตถกรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมสร้างสรรค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ “เชียงใหม่ศูนย์กลางหัตถกรรมสร้างสรรค์ระดับโลก” อย่างต่อเนื่องในทุกขั้นตอนผ่านสื่อทุกแขนง มีการส่งเสริมการขาย การอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางหัตถกรรมสร้างสรรค์ระดับโลก และการส่งเสริมและพัฒนาแหล่งหัตถกรรมสร้างสรรค์


Relate Posts :