คีตาทาน ดนตรี ความสุข และโอกาส

“ถีบบันไดปล่อยไปตามใจฉัน จับแฮนด์มั่นไปขวาหรือว่าซ้าย เบรกประคองห้ามล้อ จอดรอป้ายไฟ ดีดกระดิ่งทักทายยิ้มให้กัน กริ๊งๆ”

บทเพลงจักรยานนิยาม โดยจันทร์จ๋า ที่ขับร้อง แว่วเสียงใส โดยวงครูเบลล่า ในกิจกรรมกลุ่มจักรยานของเย็นย่ำวันหนึ่ง ที่ครูเบลล่าสละเวลาแบกวง ขนอุปกรณ์มาร่วมสร้างสีสันให้บรรยากาศดูครึกครื้น สะกดให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาและพวกเรากลุ่มจักรยานรวมทั้งผมเองก็หยุดนิ่งฟัง ขยับเท้าตามจังหวะ

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักและฟังเพลงที่ขับร้องโดยวงครูเบลล่า จากการได้พูดคุยกันนิดหน่อย บางประโยคผมเก็บไว้คาใจ บ้านดินคีตาทานโรงเรียนสอนดนตรีให้แก่เด็กและเยาวชนโดยไม่คิดค่าเล่าเรียน? ผ่านไปร่วมสองเดือน ผมจึงส่งข้อความขอนัดสัมภาษณ์ครูเบลล่าล่วงหน้าหนึ่งอาทิตย์

ถึงวันนัดสัมภาษณ์ เวลาสิบโมงเช้า  เสียงฝึกซ้อมเปียโนและขับร้องโดยครูติ๊ก บรรเลงกล่อมสองเพลง ก่อนที่ครูเบลล่าจะเดินทางมาตามนัดหมาย ไล่เลี่ยกับนักเรียนชายวัยชั้นประถมที่มาเรียนตีกลอง โดยมีครูติ๊กเป็นครูผู้สอน.

keeta754

ความเป็นมาก่อนจะเป็นบ้านดินคีตาทาน?

ความที่ครูและสามีทำโรงเรียนดนตรีชื่อ โรงเรียนดนตรีวรนันท์ เป็นโรงเรียนที่ได้จากอานิสงส์ของแม่ ซึ่งซื้อที่ดินไว้หลัง มช. ติดกับมหาลัย เป็นโลเคชั่นที่ทำธุรกิจอะไรก็สวยงามไปหมด และสามีซึ่งเป็นนักดนตรีจบจาก Berklee Collage of Music จาก Boston เป็นคนชาวเชียงราย เป็นรุ่นพี่สาธิต มช รู้จักกันมานานมาก

อ.เต๊ะ นี่เรียกว่าเป็นคนปูทางและความรู้ในด้านดนตรีให้พวกเรา อ.เต๊ะ เอาดนตรี Jazz มา พยายามจะปลุกในเชียงใหม่ แต่ในที่สุดมันก็เริ่มติดอะไรต่างๆนาๆ และครูเองก็สนใจทักษะด้านนี้ของตัวเอง เป็นนักร้องและเป็นครูสอนร้องเพลง คือแต่ก่อนเราเคยเปิดผับเปิดบาร์กัน เจ๊งกันสุดฤทธิ์ ฮะๆๆๆๆ ดีที่เจ๊ง ถ้าไม่เจ๊งก็ไม่ได้อยู่ตรงนี้เนอะ

keeta

ประมาณปีที่แปด ของการทำโรงเรียนดนตรีวรนันท์ ซึ่งเราก็เรียกว่าสะสม ทั้งครูที่เรารักทั้งหลาย บางคนนี่จบมาใหม่ๆ ไม่เคยเป็นครูมาก่อนเลย เราก็เทรนให้ต่างๆนาๆ แล้วก็ทั้งเรื่องของอุปกรณ์ดนตรีทั้งเก่าใหม่ทั้งหลาย

มาครั้งหนึ่งครูก็ไปวัดป่าแดง มารู้ว่าท่านพระครูโฆษิต จะจัดธรรมมะศึกษาให้เด็กๆในละแวก ซึ่งละแวกนี้มีปัญหาเรื่องยาเสพติดเยอะมาก พระท่านบ่นให้ครูฟังว่า เด็กไม่ค่อยสนใจมาเรียนธรรมะเลย ท่านก็พยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติด ก็เลยบอก “ท่านคะ เดี่ยวขอเอาดนตรีมาช่วยไหมคะ?”  ท่านก็บอก “เอามาเลย”

ก็มีครูบอย (บอยบลู) สมัยก่อนยังเป็นหนุ่ม ไฟแรงมาก แล้วพวกเราก็มาจัดกิจกรรมสอนดนตรีให้เด็กๆ แล้วครูก็เอากีตาร์ให้เด็กยืม “เอากีตาร์ไปลูก เล่นดนตรีนี่มันต้องซ้อม เอากลับบ้านไปด้วยสิ”

keeta67


ปรากฏเดือนเดียวกีตาร์หายหมดเลย (หัวเราะ) คือเด็กเขาก็ย้ายตามพ่อแม่ไป ส่วนมากพ่อแม่มาทำงานก่อสร้าง ซึ่งเราก็ท้อแท้ใจ แต่ก็ปลอบใจตัวเอง “ไม่ได้สิ เราต้องไม่ยอมแพ้สิ”  ทำยังไงถึงจะให้งานดนตรีของเราเดินหน้า เพราะครูรู้ว่างานดนตรี มันมีพลังเยอะมาก ถ้าเราใช้มันอย่างถูกต้อง ไม่ใช่แค่เอาไปเล่นให้คนที่มากินเหล้ามีความสุข มันมีเยอะกว่านั้น เราต้องให้ดนตรีมันเกิดในกลุ่มเยาวชนให้ได้ ก็เลยคิดว่า ไปไหนดี ที่กีตาร์มันไม่หาย ?

ทันทีก็นึกขึ้นได้ เอ่อใช่ ! ไปสถานพินิจไงเราก็ไปอาทิตย์ละหนึ่งหน ที่นั่นไม่มีดนตรีเลย เขาไม่ได้เห็นความสำคัญของตรงนี้เลย แม้แต่กีฬาก็ไม่ค่อยมีเป็นเรื่องเป็นราว น่าเสียดาย
เราเริ่มเห็น Feedback ของเด็กๆ ตอนครูเข้าไปทำกิจกรรมของเราก็สนุกไปเรื่อยๆ เราก็เริ่มเห็น เด็กมันมีศรัทธาในสิ่งที่เราทำ มันมีแววตา ความหวังเกิดขึ้น คือมันค่อยๆเริ่ม Grow ทีละนิดๆ ครูก็เลยบอกกับบอยว่า

“อาทิตย์ละหนนี่มันน้อยไป เพราะเด็กอยู่แค่สองเดือนครึ่ง เราหาครูมาประจำเถอะ”

เราก็เลยจัดทำคอนเสิร์ตกัน เพื่อที่จะหาเงินก้อนหนึ่ง ชื่อคอนเสิร์ต The music for their better day ทุกๆปีจะมีหนึ่งครั้ง ครั้งล่าสุดนี้เป็นปีที่ 6 จัดแสดงที่หอศิลป์บ้าง พายัพบ้าง เป็นคอนเสิร์ตเพื่อหาทุน ก็จะมีนักดนตรีในเชียงใหม่ ทั้งจากโรงเรียนวรนันท์ มาช่วยกันเล่น กันร้อง เราก็ได้เงินมา 4-5หมื่นบาท ก็เอามาจ้างครูเพื่อให้เข้าไปสอนในสถานพินิจ ทำมาเรื่อยๆ เปลี่ยนครูมาทั้งหมด3หนแล้ว นี่คืองานปลายน้ำของครู

keeta901

ทั้งหมดนี่ก็คือจุดเริ่มต้นและเจตนารมณ์ ความตั้งใจของครูเบลด้วย รวมถึงเรื่องของโอกาสและความหวัง?
หลังจากทำงานที่สถานพินิจเกือบ6ปี ครูก็รู้สึกว่ามันเหนื่อยมาก เพราะมันยากที่สุด ยากที่จะแก้ไข คือเรากลายเป็นแค่  Entertainer แค่นั้นเองหรือ? คือเด็กเข้าไปในห้องดนตรีแล้วมีความสุขเล่นๆไปแค่นั้น แต่มีอยู่คนหนึ่งโดนจับ 12ครั้ง มันเป็นความรู้สึกที่เด็กบอกว่าแทบจะไม่มีความหวังแล้ว  ซึ่งครูอยู่ที่นั่นมาเกือบ6ปี ครูก็ช้อนมาได้ไม่กี่คน

keeta2134

นอกจากเล่นดนตรีหาทุนจ้างครูสอนและค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนเด็ก?

ครั้งแรกเลยครูก็หาเงินได้ด้วยการเปิดร้าน ครูเบลล่า ตรงข้ามคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งอยู่ข้างหน้าโรงเรียนวรนันท์ จากนั้นเราก็ให้เด็กๆไปทำงานที่ร้าน ได้เงินเดือนด้วย เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย และในระหว่างทาง เราก็ทำงานจิตอาสากันเยอะมาก ไม่ว่าใครเขาชวนไปไหน เราก็ไป เราก็ทำหมด ที่ครูเห็นว่ามันดีต่อสังคม เพราะครูอยากจะปลูกฝังให้เด็กเขาเห็นว่า เขามีคุณค่าในตัวเอง คุณค่าต่อสังคม และความรู้สึกนี้มันจะได้ไหลเข้าไปในใจเขาด้วย พาเขาไปเล่นดนตรีในที่ต่างๆ ที่เป็นงานการกุศล เปิดหมวก ต่างๆนาๆ มันก็เลยทำให้รูปแบบเหล่านั้นชัดเจนขึ้น และในที่สุด เมื่อปีที่แล้วเอง ความที่ครูเหนื่อยกับการทำงานปลายน้ำของเด็กในสถานพินิจ ก็เลยคิดว่า ลองเปลี่ยนไปทำงานต้นน้ำดีกว่า

ครูมานั่งคิดว่า ดนตรีมันมีอยู่ทุกที่ ในใจของทุกๆคน เรามองไม่เห็น ว่ามันมีอยู่ บางคนอาจไม่มีโอกาส ซึ่งบางคนนี่พอได้จับเครื่องดนตรีก็เล่นได้เลย

จนได้มารู้จักกับคุณจิม ชวนไปงานจิตอาสาของน้องเจน ไปสอนเด็กกระเหรี่ยงที่ลำปาง ก็รู้สึกหลงรักเด็กกระเหรี่ยง ก็มีครูโอไปด้วย ไปสอนเขาเล่นขลุ่ยกัน ซึ่งสอนครู่เดียวเขาก็เล่นได้เลย  เราก็เลยรู้สึกสนุกกับการให้โอกาสเด็กที่ด้อยโอกาส แล้วได้รู้จักคุณโจน จันได บ้านดิน ก็เริ่มทำให้เราสนใจงานบ้านดิน ความรู้สึกที่อยากจะสร้าง Community music school ในเชียงใหม่ ในฝันของเราก็เริ่มชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ
จริงๆงานของครูนี่ดูเหมือนเป็นทางอ้อมนะ แต่มันเป็นทางตรง การแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติด อะไรก็ตามที่เราจะกั้นไม่ให้เขาถลำไปมากกว่านี้
เพราะฉะนั้น เราก็พยายามจะสร้างสถานที่ ที่ดีๆให้เด็กเขาได้มาอยู่ ได้มาเห็น แล้วก็มีพี่ๆคอยให้คำแนะนำ เหมือนเป็นพี่ที่ดีให้น้อง

keeta90

จตนารมณ์และความตั้งใจของครูเบลล่าเริ่มเป็นภาพชัดเจนขึ้นหลังจากไปได้ที่ดินเปล่าจากเพื่อนที่สนิทแถวๆวัดร่ำเปิง การสร้างฝันร่วมกัน โดยมีเพื่อนๆ พี่ๆมาช่วยกัน ถากถางหญ้าวัชพืช วาดแปลนบ้านและร่วมก่อร่างสร้างโครงจนเป็นบ้าน นักเรียนกลุ่มแรกจากโรงเรียนในละแวกต่างเฮโลกรูกันเข้ามาในช่วงโรงเรียนปิดเทอม หลังจากที่ครูเบลล่าได้ไปยืนประกาศที่โรงเรียน บ้านดินคีตาทานยินดีต้อนรับทุกคน


นักเรียนที่มาเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กในพื้นที่?

มาจากทุกที่เลยค่ะ การที่มาเรียนดนตรี โดยที่ทางโรงเรียนไม่เก็บสตางค์เลย มันสนุกมากในฐานะที่เป็นครู เพราะมันเรียกร้องอะไรเราไม่ได้ไง (หัวเราะ) ร้อนก็ไม่ต้องมาบอกว่าโรงเรียนไม่มีแอร์ หรือครูจะมาสายก็ไม่ต้องมาว่าครู คือทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเราก็จริง แต่ว่าเราก็ควรมีมารยาท สัจจะ มีความตั้งใจในการทำงาน ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กนั่งรอ หรือมาแล้วไม่รู้จะสอนอะไร คือความเป็นครูของเราต้องมีอยู่

keeta06

มันทำให้ครูรู้สึกว่า “อะไรบางสิ่ง บางอย่างที่เราทำในชีวิตโดยที่มันไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของเงิน มันโครตจะเป็นอิสรภาพเลย”  มันเป็นอิสรภาพที่บริสุทธิ์มาก ครูสอนอะไรมาเด็กก็รับหมด(หัวเราะ) เรามีมีอิสระของการตัดสินใจมาก แทนที่จะมีครูใหญ่มาคอยกำหนดว่าวันนี้คุณสอนอะไรไปบ้าง มีการทำแบบประเมิน แต่ครูไม่ได้หมายความว่าทางนู้นไม่ดีนะ แต่อันนี้มันเป็นอีกมุมมองหนึ่งของการทำกิจกรรมอะไรก็ได้ในชีวิตเรา โดยที่ไม่มีเงื่อนไขของการคาดหวังเกิดขึ้น แล้วเราจะรู้สึกสนุก ก็เลยเปิดโอกาสให้บ้านหลังนี้ ไม่เฉพาะสอนแต่ดนตรี แต่มีทั้งเย็บ ปัก ถัก ร้อย สอนทำเทียน ทำสบู่ อะไรก็ได้ที่ทำให้ได้ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า หรือจะมานั่งเสวนาพูดคุยกัน ก็ทำได้หมด เหมือนเป็น Community house ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นดนตรี เพราะเป็นสิ่งที่เราถนัดที่สุด มีความสุขกับการได้ทำตรงนี้ ได้เรียนรู้อะไรจากมันเยอะมาก รู้สึกอิ่มใจ กลับถึงบ้าน หัวถึงหมอนก็หลับเลย เพราะมันไม่มีเรื่องอะไรให้ต้องกังวลใจ

keeta1

keeta2

ครูเบลล่ากล่าวทิ้งท้าย

“เราจะทำเต็มที่ เท่าที่เราจะทำได้ ให้เวลาของเราบนโลกนี้คุ้มค้ากับการได้เกิดมากที่สุด”

………………………………………

“ไม่มีการให้ใด ยิ่งใหญ่เท่ากับการให้โอกาส”
ในความเป็นครูผู้ให้ เราไม่มีพันธะสัญญาใดผูกมัด นอกจากสัญญาใจที่ผูกพัน
และชีวิตนี้หากขาดดนตรีในหัวใจ รสชาติและความสุนทรียะนั้นก็คงจืดจาง หายไปจนดูเย็นชา ไร้ความรู้สึก เพราะดนตรีคือชีวิต คือสิ่งจรรโลงหัวใจของมวลมนุษย์.

– – – – – – – – – – – – – – – –

ครูเบลล่า ครูสอนขับร้องและดนตรี
“ผู้ก่อตั้งโรงเรียนดนตรีวรนันท์และร้านครูเบลล่า
มีเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นตั้งใจ ให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าของชีวิต ของตนเอง และผู้อื่น
จึงสร้างโรงเรียนคีตาทาน สอนดนตรีฟรีให้กับเด็กที่สนใจดนตรี แต่ทุนทรัพย์น้อย”

ติดต่อ : Kitatarn

Relate Posts :