แม่กลางหลวง หมู่บ้านที่ไม่ได้มีดีแค่นาขั้นบันได

บ้านแม่กลางหลวง

คือหมู่บ้านกะเหรี่ยงแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเป็นชนเผ่าปกาเกอะญอ อันหมายถึง ผู้มีความสมถะและเรียบง่าย ตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 26 ระหว่างทางขึ้นดอยอินทนนท์ ในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้ปลูกไร่ฝิ่น แต่โดยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ชาวบ้านได้เปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบสร้างสรรค์ บางส่วนปลูกกาแฟ บางส่วนทำนาข้าว เป็นที่มาของนาขั้นบันไดบ้านแม่กลางหลวงแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในปัจจุบัน

นาขั้นบันได บ้านแม่กลางหลวง เชียงใหม่
ไปเที่ยวช่วงปลายเดือนตุลาคม นาข้าวจะเหลืองอร่ามใกล้เก็บเกี่ยว

นาขั้นบันไดบ้านแม่กลางหลวง

เป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำชั้น 3 บนดอยอินทนนท์ ลักษณะเป็นหุบเขาล้อมรอบทุ่งนาโดยจะทำเป็นขั้นๆเหมือนขั้นบันได นักท่องเที่ยวและนักถ่ายรูปจะนิยมมาชมความงามและถ่ายภาพทุ่งนาที่ดูแปลกตา ทั้งนี้  การทำนาข้าวจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ

– ก.ย. – กลาง ต.ค. ช่วงหน้าฝนต้นข้าวจะเริ่มเขียว เคล้าสายหมอกบางๆในฤดูฝน
– ปลายต.ค. – ต้นพ.ย. เป็นช่วงที่ต้นข้าวออกรวงเป็นสีทองเต็มท้องทุ่งเหลืองอร่าม

นาขั้นบันได บ้านแม่กลางหลวง เชียงใหม่
โฮมสเตย์อีกแห่งหนึ่งอยู่ติดกับที่เราพัก ตั้งอยู่บนเนินเขา

นาขั้นบันได บ้านแม่กลางหลวง เชียงใหม่
นาขั้นบันได ถ่ายจากบันไดขั้นบนสุด

กาแฟพี่สมศักดิ์

แรกที่ได้ยินก็สงสัยว่ามันคืออะไร ถามชาวบ้านเขาชี้บอกให้ไปร้านกาแฟที่อยู่ในสุดขึ้นไปบนเนิน เมื่อไปถึงพบว่าไม่ใช่ร้านกาแฟอย่างที่คิดไว้ ลักษณะเป็นเพิงหรือศาลานั่งพักผ่อนมากกว่า มีกาน้ำแบบโบราณ (หม้อดำจริงเพราะใช้ถ่าน) ทั้งการชงก็ยังเป็นแบบใช้ถุงกาแฟไม่ได้ใช้เครื่องชงแต่อย่างใด คือบดสดๆชงสดๆตรงนั้นเลย ราคาค่ากาแฟคือ 0 บาท ทุกคนไปกินไปเลยพี่สมศักดิ์เขาแจกฟรี ตอนที่ไปถึงมีนักท่องเที่ยวฝรั่งหลายคนกำลังชิมกาแฟ ชาวบ้านผ่านมาก็แวะกินกาแฟ ใครอยากอุดหนุนพี่เขามีแบบแพ๊คใส่ถุงไว้ให้ซื้อกลับบ้านหรือเป็นของฝากได้

กาแฟพี่สมศักดิ์
ร้านกาแฟพี่สมศักดิ์ ทุกแก้วฟรี ไม่มีชาร์จ

พี่สมศักดิ์

สมศักดิ์ คีรีภูมิทอง หรือที่ใครๆต่างเรียกกันว่าพี่สมศักดิ์ หนุ่มใหญ่ชาวปกาเกอะญอ วัย 45 ปีผู้เป็นเจ้าของร้านกาแฟสมศักดิ์และเจ้าของที่พัก Inthanon Kirimaya ที่เราเข้าพักในวันนี้ “สัตว์ก็เหมือนคน มันอพยพเพราะอยู่ไม่ได้ คนก็เหมือนกัน” ด้วยปรัชญาของบรรพบุรุษและการน้อมนำแนวพระราชดำรัสของในหลวงมาใช้ หนุ่มชาวเขาผู้เคยต้องดิ้นรนทำงานเหน็ดเหนื่อยในกรุงเทพตัดสินใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิดด้วยความเชื่อว่า “บ้านเรามีของดีมีต้นไม้มีสัตว์ป่ามีทุ่งนา มีไกด์พาคนมาเที่ยวดูป่าจริงๆแต่ไม่มีไกด์ที่ไหนพาคนไปดูป่าคอนกรีต” พี่สมศักดิ์กล่าวอย่างเชื่อมั่น

นอกจากความต้องการที่จะพัฒนาบ้านเกิดแล้ว ชายคนนี้ยังมีแนวคิดที่น่าสนใจอีกหลายอย่างทั้งเรื่องการแบ่งปันกลับสู่ธรรมชาติ

“แบ่งคืนธรรมชาติไปเลย 100% ตัวเราต้องการแค่ 10%”

การแบ่งปันกับคนในหมู่บ้าน


“ผมแบ่งงานให้คนในหมู่บ้านทำ ให้ทุกคนเป็นเจ้าของทุกอย่าง คุณต้องเลือกว่าจะกั้นรั้วด้วยกำแพงหรือกั้นรั้วด้วยน้ำใจ ถ้าคุณให้ความยุติธรรม ส่งเสริมคนยากคนจน ก็จะไม่มีขโมย ที่มันขโมยเพราะมันไม่มีจะกิน”

นอกจากนี้ เขายังสนใจในเรื่องการพัฒนาเรื่องการศึกษาหาความรู้ เริ่มต้นจากตัวเขาเองที่จะเรียนรู้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูปทั้งหลายเพราะเขาเชื่อว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือเพื่อสื่อสารกับผู้คนให้ทันยุคสมัย นอกจากนี้พี่สมศักดิ์ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการสร้างโรงเรียนแห่งแรกที่บ้านแม่กลางหลวงแห่งนี้ เพื่อเด็กๆในหมู่บ้านจะไม่ต้องเดินทางไปเรียนยังที่ห่างไกลอีกต่อไป

พี่สมศักดิ์เป็นคนชอบแบ่งปันข้อมูล แบ่งปันความรู้ ใครเข้าหาแกยินดีตอบคำถามพูดคุยด้วยอย่างเป็นกันเอง สิ่งที่แกไม่ชอบมากๆคือ การฉ้อฉล การตุกติก ใต้โต๊ะ ชายวัย 45 ปีคนนี้พร้อมจะลุยหากเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง – วันที่เราไปพบเหตุการณ์ไกด์ต่างถิ่นพานักท่องเที่ยวมาลงแล้วพยายามจะมาขอค่าหัวคิวกับพี่สมศักดิ์ ปรากฎว่าโดนด่าเปิงหนีลงดอยแทบไม่ทัน พี่เขาไม่ธรรมดา คนนี้ตัวจริงของจริง พบกับเขาไปทุกวันที่บ้านแม่กลางหลวงหรือโทรสอบถามนัดหมายก่อนได้ที่ 081-9608856

สมศักดิ์ คีรีภูมิทอง
สมศักดิ์ คีรีภูมิทอง

กิ่วแม่ปาน

ขับรถขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงกิโลเมตรที่ 42 จะพบสถานที่คล้ายลานจอดรถ บริเวณนี้คือจุดเริ่มต้นเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ลักษณะคล้ายการเดินป่าระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรใช้เวลาเดินประมาณ 2-3 ชั่วโมงจะทะลุออกไปยังทุ่งหญ้าโล่งกว้างของสันกิ่วแม่ปาน ปิดให้บริการช่วงเดือน มิถุนายน – ตุลาคม เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว วันที่เราไปนั้นยังปิดทำการอยู่จึงไม่มีรูปภาพใดๆมาฝากกัน เปิดให้เดินชมธรรมชาติอีกครั้งวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

ดอกไม้ที่ไม่เคยหลับ

เมื่อกิ่วแม่ปานไม่เปิด เราก็ขับรถขึ้นไปต่อ เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ยอดดอยอินทนนท์แต่คือโครงการหลวง เรารู้มาว่ามีสองสิ่งที่น่าสนใจคือ แปลงดอกไม้ และปลาเทร้า (ปลาเทร้ามีลักษณะคล้ายปลาแซลมอนแต่เป็นคนละชนิดกัน เทร้าเป็นปลาน้ำจืด ส่วนแซลมอนเป็นปลาทะเลที่เกิดในน้ำจืดแต่ไปโตในน้ำเค็ม) น่าเสียดายเราขับรถหาบ่อปลาเทร้าไม่เจอ เจอแต่แปลงดอกไม้สุดลูกหูลูกตา ดอกไม้พวกนี้น่าสงสารอยู่เหมือนกันตรงที่มันไม่ได้รับอนุญาติให้นอนหลับพักผ่อน เวลากลางคืนเขาจะเปิดไฟให้แสงสว่างเพื่อหลอกว่าเป็นเวลากลางวันจึงจะเติบโตเร็ว ดอกไม้ส่วนใหญ่จะเป็นเบญจมาศ ที่เปิดไฟให้ดอกไม้คือการบังคับให้เบญจมาศมีก้านที่ยาวตามมาตรฐาน

ดอกไม้ที่ไม่เคยหลับ
สิ่งเรืองแสงคือเรือนให้แสงสว่างแก่มวลดอกไม้
ดอกไม้ที่ไม่เคยหลับ
ชมวิวแสงไฟแปลกตายามค่ำคืน
แสงจากที่สูง เหมือนมองจากดอยลงมาเมืองเชียงใหม่

บ้านบัวตอง 1

เราพักที่ Inthanon Kirimaya โฮมสเตย์ที่พักของพี่สมศักดิ์ เราได้บ้านบัวตอง1 เป็นบ้านขนาดกะทะรัด พักได้ 4 คน มีสองเตียงนอน 1 ห้องน้ำแบบชักโครกพร้อมน้ำอุ่น มีระเบียงหน้าบ้านพร้อมโต๊ะสำหรับทำกิจกรรมหรือนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ ราคาคืนละ 700 บาทต่อคืนสำหรับหน้า Low Season และ 1400 บาทสำหรับหน้า High Season (1 พฤศจิกายน – 28 กุมภาพันธ์)

บ้านบัวตอง 1 (ขวามือ) Inthanon Kirimaya โฮมสเตย์

อุ่มเอิบกาแฟ

ร้านกาแฟเล็กๆนี้เป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับเราได้มากทีเดียว โดยตัวร้านและการตกแต่งแล้วร้านน่าจะตั้งอยู่ในเมืองอย่างน้อยก็ตั้งอยู่ในเขตเมืองจอมทอง แต่นี่กลับมาตั้งอยู่ในทุ่งนาลึกในหุบเขา แถมอยู่ลึกในสุดเสียด้วย สรุปคือ ตัด P ที่แปลว่า Place ในกลยุทธ์การตลาดออกไปได้เลย

ข้อมูลในแฟนเพจบอกว่าร้านเปิด 24 ชั่วโมง แต่ความจริงแล้วก็มีเวลาปิดเพื่อให้เจ้าของร้านหนุ่มดีกรีเกษตรมช. ต้น – ณัฐกิตติ์ เทพอุดม วัย 28 ปี ได้นอนหลับพักผ่อนบ้าง ร้านอุ่มเอิบจำหน่ายกาแฟสดรสชาติดีจากเครื่องชงชั้นยอดและเมล็ดกาแฟชั้นเยี่ยม เปิดบริการทุกวันตั้งแต่ 07.00 – 20.00 น. **หมายเหตุ เจ้าของร้านชอบเพลงของศิลปินเชียงใหม่มากๆอย่างเช่นของ บอย อิมเมจิ้น เปิดได้ทั้งคืนไม่มีเบื่อ


 ต้น - ณัฐกิตติ์ เทพอุดม ร้านอุ่มเอิบกาแฟ
เห็นลิบๆในสุดนั่นคือร้านอุ่มเอิบ Coffee กาแฟสุดแนวลึก

การเดินทาง

จากเดิมเราตั้งใจจะเดินทางโดยเจ้า Honda Zoomer X ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก S.K. Service บริการให้เช่ามอเตอร์ไซค์ ในจังหวัดเชียงใหม่ รถน่ารักแรงดีมั่นใจในการขับขี่มาก แต่ขี่ไปได้ถึงแค่หางดงเกิดเจอพายุฝนพัดกระหน่ำ จนต้องเปลี่ยนเป็นขับรถกระบะไปแทนซึ่งก็พาเราไปถึงจุดหมายได้อย่างไม่ยากลำบาก รถอะไรก็ไปบ้านแม่กลางหลวงได้หมดไม่ต้องห่วงทางไม่ลำบาก

หน้าตาเจ้า Zoomer X และผู้เขียน

เริ่มจากตัวเมืองเชียงใหม่ ปกติจะต้องใช้เส้นทางเชียงใหม่ – หางดง – สันป่าตอง (ทางหลวงหมายเลข 108) แต่เราเลือกใช้เส้นตัดใหม่ทางคันคลองตรงไปเรื่อยๆถนนดีมากคนยังไม่ค่อยรู้ จะมาโผล่ที่อำเภอดอยหล่อเลยสันป่าตองมาแล้ว ช่วยหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดได้ดี จากนั้นมาเลี้ยวขวาเพื่อขึ้นดอยอินทนนท์ (ทางหลวงหมายเลข 1009) บ้านแม่กลางหลวงอยู่ซ้ายมือบริเวณกม.ที่ 26

ภาพถ่ายโดย – ฉัตรชัย โนตานนท์

หากใครมีที่เที่ยวสวยๆ สามารถแนะนำเจ๋งเข้ามาได้ อย่าลืมแวะมา Comment มาแชร์ให้เจ๋งได้รู้ตามช่องทั้ง

  

เจ๋งจะตามไปรีวิวอย่างทันท่วงที


ดู บ้านแม่กลางหลวง ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า

Relate Posts :