ประเพณีปอยส่างลอง : งานบวชลูกแก้วของคนไทใหญ่

 เพราะความบังเอิญจึงทำให้ผมได้มาพบเจอ

หลังจากหาอะไรกินอิ่มในตอนบ่าย ขับรถผ่านแถวอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เห็นคนกลุ่มนึงกำลังทำพิธีกรรมอะไรซักอย่างกลางแดดเปรี้ยงๆ มีเด็กชายแต่ง หน้าทาปาก อยู่ในชุดเครื่องแต่งกายสีสันฉูดฉาด มีนักท่องเที่ยวผ่านไปผ่านมาแถวนั้นยืนแวะถ่ายรูปกันท่ามกลางแสงแดด

แรกๆผมนึกว่าขบวนแห่อะไรอย่างของหน่วยงานซักที แต่พอเดินไปดูใกล้ๆ รีบเก็บภาพ ก่อนขบวนแห่จะสลายไปกับรถกระบะคันของใครของมัน ผมเลยถือโอกาสเดินไปถามคนขายไอศกรีมแถวนั้น ว่านี้มันขวบนแห่อะไรกันนิพี่ ผมไม่เคยเห็น มันดูอลังการมากนะ

คนขายไอศกรีมมองหน้าผมพร้อมปาดเหงื่อที่ไหลอาบหน้า ก่อนพูดสำเนียงแบบคำเมืองว่า มันคือประเพณีปอยส่างลอง

สำหรับใครที่เป็นคนแม่ฮ่องสอน หรือไทใหญ่ ประเพณีปอยส่างลอง คงรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ถ้าเป็นต่างพื้นที่แบบผม ขอบอกแล้วว่า ไม่รู้ครับ

ในเมื่อไม่รู้ ว่าแล้วก็ทำการไปค้นหาข้อมูลเอามาฝากกัน

ประเพณีปอยส่างลอง หรือ งานบวชลูกแก้ว เป็นการบรรพชาสามเณรในพระพุทธศาสนา โดยจะพบเห็นการจัดปอยส่างลองกันมากที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมือง อำเภอขุนยวม และอำเภอปาย คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประเพณีนี้ก็สืบเชื้อสายมาจากไทใหญ่ ซึ่งก็ได้ร่วมกันสืบทอดงานประเพณีนี้มาเป็นเวลาช้านาน ดังปรากฏว่าหลักฐานว่าประเพณีนี้มีมาตั้งแต่มีการสร้างแปลนเมืองแม่ฮ่องสอน ซึ่งก็ ได้มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ทุกๆปี เนื่องจากเป็นประเพณีที่สำคัญทางศาสนา และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด


จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดความขัดแย้งในวงกว้าง ครอบคลุมทุกทวีปและประเทศส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) จนกระทั่งสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ในระหว่างนั้นประเทศไทยได้ประสบปัญหาทางด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ประเพณีปอยส่างลองถูกงดและเลิกไป จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2525 อันเป็นปีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ก็ได้มีการฟื้นฟูและจัดงานประเพณีปอยส่างลองขึ้นทุกๆปีจนถึงปัจจุบัน และประเพณีนี้ก็ได้ขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียง คือ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

ส่วนตำนานประวัติความเป็นมาของประเพณีปอยส่างลองมีกล่าวกันไว้หลากหลายตำนานแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ซึ่งก็ตำนานต่างๆส่วนใหญ่ ก็มักจะมีที่มาที่ไปเกี่ยวข้องกับพุทธศานามาตั้งแต่สมัยพุทธกาลกันแล้ว

การจัดงานปอยส่างลองจะจัดกันในช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งที่ชาวบ้านชาวช่องส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ และเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กๆด้วย

ก่อนถึงวันประเพณีปอยส่างลองหนึ่งวัน เด็กชายผู้ชายทุกคนที่เข้าร่วมประเพณีนี้จะต้องปลงผมและอาบน้ำให้สะอาดสะอ้าน มีการเจิมด้วยน้ำหอมเพื่อให้มีกลิ่นหอม แต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆอย่างอลังการ โดยวันแรกของปอยส่างลอง หรือชาวบ้านจะเรียกกันว่า “วันเอาส่างลอง” จะเริ่มด้วยขบวนแห่ลูกแก้วซึ่งลูกแก้วก็จะมีการแต่งกายอย่างสวยงามเปรียบเหมือนกับเทวดาตัวน้อยๆ แห่ไปรอบๆเมืองตามถนนหนทางต่างๆ ซึ่งในขบวนแห่ก็จะประกอบไปด้วยเสียงดนตรีอันแสดงถึงความสนุกสนานรื่นเริงจากเครื่องดนตรีของไทใหญ่ ได้แก่ มองเซิง (ฆ้องชุด) ฉาบ และกลองมองเซิง (กลองสองหน้า)


ในอดีตนั้นการแห่ลูกแก้วไปรอบๆเมืองจะให้ลูกแก้วขี่ม้าแต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเพราะม้านั้นไม่ได้หากันง่ายๆเหมือนดังเช่นสมัยก่อน ในสมัยปัจจุบันก็จึงแห่ลูกแก้วโดยการให้นั่งเก้าอี้แล้วนำไปใส่หลังรถยนต์แห่ไปรอบเมืองแทน ในขบวนแห่ลูกแก้ว ลูกแก้วแต่ละคนก็จะมีผู้ติดตามซึ่งก็อาจเป็นพ่อ หรือญาติพี่น้องที่เป็นผู้ชาย

ต่อมาวันที่สอง หรือ “วันรับแขก” ก็จะมีขบวนแห่คล้ายๆกันกับวันแรกแต่ในวันที่สองนี้ในขบวนแห่จะประกอบด้วยเครื่องสักการะ ธูปเทียนต่างๆ เพื่อถวายพระพุทธ และเครื่องจตุปัจจัยถวายพระสงฆ์ ในช่วงเย็น หลังจากที่ลูกแก้วรับประทานอาหารแล้วเสร็จ ก็จะมีพิธีทำขวัญและการสวดคำขวัญ เพื่อเตรียมตัวให้ลูกแก้วซึ่งจะเข้ารับการบรรพชาในวันรุ่งขึ้น โดยผู้นำที่ประกอบพิธีก็จะเป็นผู้อาวุโสที่ศรัทธาวัดทุกคนให้ความเคารพนับถือ

วันสุดท้าย คือ “วันบวช” พิธีของวันนี้จะเริ่มด้วยการนำลูกแก้วไปยังวัด พอถึงวัด ลูกแก้วทั้งหมดก็จะกล่าวขออนุญาตเพื่อทำการบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ เมื่อท่านได้อนุญาต ลูกแก้วก็จะพร้อมกันกล่าวคำปฏิญาณตน และอาราธนาศีล แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดเสื้อผ้าส่างลองที่สวยงามมาเป็นผ้ากาสาวพัตร์สีเหลือง และเป็นก็สามเณรอย่างสมบูรณ์ โดยอาจจะอยู่หลายเดือนเพราะว่าเป็นช่วงปิดเทอมหรืออยู่ 2-3 อาทิตย์ก็แต่จะสะดวกโยธิน

ผมเห็นประเพณีปอยส่างลองแล้วก็อดนึกถึง งานบวชภาคฤดูร้อนแถวอีสานบ้านตัวเองไม่ได้ เพราะครั้งนึงเคยเกือบจะไปบวชเพราะขี้เกียจทำงานช่วยแม่ ฮ่าๆๆ แต่นึกอีกที มันอดเล่นสงกรานต์นี่หว่า แถมใช้ชีวิตลำบาก ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเยอะกว่าอยู่บ้าน ว่าแล้วก็อยู่บ้านให้แม่ใช้งานเนี่ยแหละน่าจะดีที่สุด

ไว้โตเป็นหนุ่ม อยากจะเป็นผู้เป็นคนเมื่อไหร่ ค่อยคุยถึงเรื่องบวชพระทดแทนบุญคุณให้แม่ครับ ถึงตอนนั้นผมคงพร้อมกว่าตอนเป็นเด็กหัวเกรียนที่ดื้อซน เล่นสนุกไปวันๆแบบเรื่อยๆ

ว่าแต่ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่นะ ฮ่าๆๆ

Relate Posts :