ทริปนี้ที่สันทราย

“การเดินทางคือสายตาของนักเขียน”  รงค์ วงษ์สวรรค์ บอกเอาไว้เช่นนั้น

เป็นอีกครั้งที่ชีพจรลงเท้า ได้มีโอกาสเดินทางไปกับ ททท.เชียงใหม่ ไปแถลงข่าวเปิดงานของดีอำเภอสันทรายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

งานเริ่มจริงๆก็ตอนห้าโมงเย็นแหละครับ แต่ทางคณะทั้งหลายก็ออกเดินทางล้อหมุนกันตั้งแต่บ่ายสอง ที่ต้องไปบ่ายสองก็เพราะระหว่างต้องแวะไปดูของดีสันทรายกันบ้าง พูดง่ายๆว่าไปเที่ยวฆ่าเวลารอเปิดงานกันตอนเย็น

ที่แรกเป็นศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านสล่าสันทราย  ที่อำนวยการสร้างโดย ครูจักพันธ์ ชัยแปงที่เคยได้ศึกษาเรียนรู้การทำโคม ตุง และเครื่องสักการะล้านนา มาตั้งแต่อายุ 12 ปี

จุดประสงค์หลักก็เพื่อต้องการส่งเสริมอนุรักษ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านแก่เยาวชนและผู้สนใจทั่วไป

นับได้ว่าครูจักพันธ์ ชัยแปง เป็นที่ยอมรับและถูกซูฮกกันในด้านนี้ การันตีจากรางวัลครูภูมิปัญญาไทยแห่งชาติรุ่นที่ 6 ปี 2552 สาขาอุตสาหกรรม และหัตถกรรม จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ปี 2552 รางวัลศิลปินพื้นบ้านเพชรราชภัฏเพชรล้านนา ปี 2547 สาขาศิลปกรรม

ส่วนผลงานของครูจักพันธ์ ชัยแปง ถือว่ามีเอกลักษ์โดดเด่นในแบบล้านนาเฉพาะตัว ก่อนจะมีสาธิตการตอกลายโชว์ซักเล็กน้อยแก่ทางคณะให้เห็นเป็นขวัญตา

เสร็จจากที่นี้ก็ตรงดิ่งไปที่บ้านบ่อหิน ต.สันป่าเป่า อ.สันทราย ตรงที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ไปชมงานไม้แกะสลักอันทรงคุณค่า โดยช่างผู้ชำนาญการ


ซึ่งผลงานที่นำมาให้ดูเป็นงานแกะสลักแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวล้านนาสมัยก่อน ในด้านความเป็นอยู่ การทำเกษตรกรรม โดยไม้ที่นำมาแกะสลักนั้นเป็นไม้สัก สอบถามช่างให้การว่าใช้เวลาในการแกะนานถึงครึ่งปี

พอเสร็จจากดูผลงานที่แกะสลักเสร็จแล้ว ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีสาธิตวิธีทำกันบ้างพอหอมปากหอมคอ

ก่อนจะไปต่อที่พิพิธภัณฑ์วัดร้องเม็ง ซึ่งตรงส่วนนี้ผมก็ได้เล่าไปแล้ว เมื่อสองวันก่อน เอาเป็นว่าไม่ขอเล่าซ้ำก็แล้วกัน

ส่วนที่สุดท้ายที่ไปเที่ยวก่อนจะไปเปิดงานที่ว่าการอำเภอสันทราย เป็นวัดพระบาทดอยแท่นพระ ที่อุตสาห์ขับรถขึ้นไป แต่พอไปถึงปรากฏว่าประตูวัดปิดห้ามเข้าแล้ว เพราะ หลัง 16.30 น. เป็นต้นไป พระท่านทำวัตรเย็นครับ

เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องดิ่งไปที่ว่าการอำเภอสันทรายเลย

บรรยากาศในตอนเย็นดูจะไม่ค่อยคึกคักซักเท่าไหร่ แขกเหรื่อส่วนใหญ่ก็มีแต่ผู้หลักผู้ใหญ่ และสื่อมวลชนหลากหลายแขนงไปงาน

พิธีการเปิดงานแถลงข่าวเป็นไปอย่างเรียบง่าย สบายๆแบบเป็นกันเองบนลานหญ้าหน้าที่ว่าการอำเภอ  มีนายเทพประสิทธิ์ วงษ์ท่าเรือ นายอำเภอสันทราย กับนายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวแถลงรายละเอียดงานของดีสันทรายปี 2555


เสร็จจากพิธีเปิด ก็มีการเลี้ยงขันโตกแก่สื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติในงาน พร้อมการแสดงฟ้อนรำ และรำดาบ สร้างความเพลิดเพลินจำเริญใจในระหว่างทานมื้อค่ำกันแบบสไตล์ล้านนา

ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกสำหรับผมที่มีโอกาสได้กินขันโตก (ผมเป็นคนอีสาน) ซึ่งก็อยากจะรู้ว่ารสชาติอาหารนั้นมันจะต่างกันซักเพียงใดเชียว

กับข้าวในขันโตกก็มี แคบหมู น้ำพริกหนุ่ม ไก่ทอด แกงฮังเล ลาบ และไส้อั่ว รสชาติส่วนใหญ่อยู่ในระดับสอบผ่าน อาจจะติดตรงที่น้ำพริกหนุ่มที่ผมอยากทานเผ็ดมากกว่านี้ และลาบแบบชาวเหนือที่ผมไม่คุ้นลิ้นซักเท่าไหร่ เพราะลาบในสไตล์อีสานจะจัดจ้านฉูดฉาดมากกว่าทางเหนือ

และตบท้ายด้วยการเคี้ยวเมี่ยง รสชาติมันแลดูออกแบบเปรี้ยวๆคล้ายพวกบ๊วย ฝาดนิดๆ  ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเมี่ยงเปรี้ยวที่ได้จากการหมักใบชา 2-3 เดือน

น้องฝึกงานที่ ททท. บอกเพิ่มเติมว่า ตามจริงมันควรจะมีเกลือไว้กินแกล้ม แล้วก็ถั่ว มีมะพร้าวคั่วอะไรเทือกนั้น

ถ้าตามหลักการสไตล์ล้านนาจริงๆมันต้องมีบุหรี่ขี้โย้เอาไว้สูบหลังจากเคี้ยวเมี่ยงเสร็จ เพราะรสชาติของบุหรี่ที่ดูดไปมันจะเย็นเหมือนเมนทอลผ่านลำคอ สร้างความสำราญในการเผาผลาญปอดเป็นอย่างยิ่ง

หนึ่งทุ่มกว่าๆ ทานขันโตกเสร็จ ก็ถึงเวลาที่ต้องกลับแยกย้ายไปบ้านใครบ้านมัน ผมเผลอหลับไประหว่างทางกลับด้วยความอ่อนล้าจาการตะลุยหนักมาทั้งวัน

และถึงจะเหนื่อยจนผล่อยหลับไป แต่ก็คุ้มค่ากับการได้มาสัมผัสอะไรในแบบล้านนา ที่คนอีสานอย่างผมไม่ค่อยได้เจอ

หัวเรี่ยวหัวแรงของศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านสล่าสันทราย
สาธิตวิธีแกะลายกันซักนิดหน่อย
ชิ้นนี้ใช้เวลาครึ่งปีครับกว่าจะแกะเสร็จ
ก่อนจะได้งานชิ้นดี ก็เป็นแบบนี้มาก่อน
ขันโตกในตอนเย็นที่ได้สัมผัส

Relate Posts :